คำปรารภ

ชุมนุมสมุนไพรในบล๊อกของข้าพเจ้านี้ ได้นำบทความจากคอลัมน์ "เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ" โดย นายเกษตร ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งข้าพเจ้าชอบคอลัมน์นี้มาก จึงตัดเอามาพิมพ์และแปะไว้ในสมุดหลายเล่ม และอยากจะนำมาเผยแพร่ในบล๊อก จึงขออนุญาตท่านนายเกษตรจากบล๊อกนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่รู้จะติดต่อขออนุญาตท่านได้อย่างไร ข้าพเจ้าจึงขอขอบคุณท่านมาก และยังได้นำสูตรที่ท่านให้ไว้นำไปทำรับประทานและได้ผลค่อนข้างดีมาก

อักษร ส - ฮ

สับปะรด แก้เหงือกบวมจนปากเหม็น
สับปะรด
      ปัจจุบัน อาการเหงือกบวมมีคนเป็นกันเยอะ บางคนเป็นบ่อยและเป็นประจำจนทำให้มีกลิ่นปากหรือปากเหม็น  คนรอบข้างไม่อยากพูดคุยด้วย กลายเป็นปมด้อย ในทางสมุนไพรใช้ สับปะรดสุกปอกเปลือกเอาเฉพาะเนื้อ 1-2 ชิ้นปั่นกับน้ำ 2 แก้ว กรองด้วยผ้าขาวบางเอาน้ำกลั่วปากหรืออมไว้สักครู่บ้วนทิ้ง ทำวันละ 1-2 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน ประมาณ 1-2 อาทิตย์ อาการที่เป็นจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้หรือทำจนกว่าจะหาย
      สับปะรด หรือ ANANAS COMOSUS (LINN.) MERR อยู่ในวงศ์ BROMELIACEAE ทางยา รากรสหวานเย็นต้มน้ำดื่มแก้ขัดเบาแก้นิ่ว ขับปัสสาวะ รากและจุก สับปะรดปรุงเป็นยาแก้หนองใน แก้มุตกิดระดูขาวสตรี ใบสดต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย เนื้อสุกกินระงับอาการอักเสบฟอกเลือด ผลดิบใช้ห้ามเลือดขับพยาธิ เปลือกผลแก้กษัยทำให้ร่างกายแข็งแรงทุกส่วนของ สับปะรดเป็นยาขับปัสสาวะ
สามสิบ ปลูกประดับสรรพคุณเยอะ

สามสิบ

      ปัจจุบันต้น สามสิบหรือ ASPA-RAGUS RACEMOSUS WILLD อยู่ในวงศ์ ASPARAGCEAE ถูกนำไปปลูกเป็นไม้ประดับอย่างแพร่หลาย เพราะมีดอกสีขาวสวยงามตลอดปีทั้งๆที่การวิจัยทางเภสัชวิทยาระบุว่า ต้น สามสิบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา คลายกล้ามเนื้อมดลูกสตรี บำรุงหัวใจ แก้อาการอักเสบ แก้ปวด มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งเบาหวาน ต้านอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ ลดระดับไขมันในเส้นเลือด ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้ตับและปอดดี
      ราก สามสิบต้มน้ำดื่ม หรือตำผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินเป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ในคัมภีร์พระเวทกล่าวว่า ราก สามสิบเป็นสมุนไพรหลักสำหรับบำรุงสตรี ทำให้ เป็นสาวตลอด ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ชายเห็นชายชอบ สามีรักสามีหลง จึงมีชื่อเรียกอีกว่าต้น สามร้อยผัวรสชาติของราก ที่ต้มจะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นโสมชวนรับประทานยิ่งนัก นอกจากนั้น ยังช่วยแก้ประจำเดือนสตรีมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ภาวะมีบุตรยาก ตกขาว แก้หมดอารมณ์ทางเพศหลังหมดประจำเดือน บำรุงน้ำนมสตรีหลังคลอด บำรุงครรภ์ และ ป้องกันการแท้งลูกดีมาก
      สำหรับบุรุษ นิยมเรียกต้น สามสิบว่าต้น ม้าสามคอกเอารากสดหรือตากแห้งดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี จนยาออกดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊ก ก่อนอาหารเช้ากลางวันเย็นและก่อนนอน เป็นยาบำรุงร่างกายทำให้แข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายๆ และยังบำรุงปอด ตับ ลดน้ำตาลในเลือด หรือ ลดเบาหวาน แก้โรคคอพอกได้อีกด้วย ปัจจุบันต้น สามสิบมีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง คุณยุ่นและแผง คุณตุ๊กหน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง จะปลูกประดับหรือเป็นยาก็ได้ครับ.

สายน้ำผึ้ง ดอกหอมมีสรรพคุณ
สายน้ำผึ้ง
      สายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิด จาก ประเทศญี่ปุ่น ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยบ้านเรานานแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย ซึ่ง สายน้ำผึ้งนอกจากจะมีดอกส่งกลิ่นหอมเย็นเสน่ห์ให้ชื่นใจแล้ว บางส่วนยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย โดย ตำรายา
      แผนไทยระบุว่า ลำต้น เป็นยาแก้แผลฝีต่างๆ แผลเปื่อย โรคผิวหนัง แก้บิด ท้องเสีย ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อยตามข้อ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แผลในกระเพาะอาหาร มีสารฝาดและซาโปนิน ดอกชาวจีนต้มน้ำดื่มแก้ไข้หวัด อมกลั้วในปากแก้เหงือกอักเสบ แผลหนอง บิด ดอกมีสารจำพวก LUTEOLIN.INOSITOL
      สายน้ำผึ้ง หรือ LONICERA JAPO-NICA THUNB. ชื่อสามัญ HONEYSUCKLE, JAPANESE HONEY-SUCKLE อยู่ในวงศ์ COPRIFLOLIACEAE เป็นไม้เถาเลื้อย กิ่งสีน้ำตาลมีขน ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีแกมรูปใบหอก ปลายแหลม โคนกลมหรือตัดตรง
      ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เรียงกันเป็นสัน กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดยาว 2.5 ซม. ปลายแยกเป็นกลีบดอก 2 ส่วน ไม่เท่ากัน ส่วนบนมีกลีบเดียว ส่วนล่างปลายแยกเป็น 4 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ยาวพ้นกลีบดอก ดอกเป็นสีขาว หรือ สีเหลืองอ่อน จากนั้นจะเป็นสีเหลืองจัดเมื่อดอกแก่ ดอกมีกลิ่นหอมเย็น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเมื่อเข้าไปยืนใกล้ๆ จะได้กลิ่นเป็นที่ประทับใจมาก ผลทรงกลมสีดำ มีเมล็ด ดอกออกตลอดปี มีดอกดกช่วงระหว่างเดือน มีนาคม ขยายพันธุ์ด้วยการ ตอนกิ่ง
      ปัจจุบัน สายน้ำผึ้งมีต้นขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแผงแตกต่างกันตามขนาดของต้น ราคาสอบถามกันเองครับ.

สิงโตพัดเหลือง กับสรรพคุณอีกครั้ง
สิงโตพัดเหลือง
      ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากที่พลาดการได้อ่านถึงสรรพคุณทางสมุนไพรของ สิงโตพัดเหลืองที่เคยแนะนำไปในคอลัมน์นานแล้ว อยากทราบว่า สิงโตพัดเหลืองนอกจากจะมีดอกสวยงาม นิยมปลูกประดับกันอย่างแพร่หลาย มีสรรพคุณทางยาใช้รักษาหรือช่วยแก้โรคอะไรได้บ้าง ซึ่งก็เป็นจังหวะพบว่า กล้วยไม้ สิงโตพัดเหลืองกำลังอยู่ระหว่างมีดอกสวยงามและมีต้นวางขายพอดี จึงรีบสนอง ความต้องการแฟนคอลัมน์อีกทันทีตามระเบียบ
      โดย ในตำรายาพื้นบ้านภาคอีสานระบุว่า ทั้งต้น ดอก ราก ของ สิงโตพัดเหลืองนำไปผสมกับต้น เอื้องตีนจิ้งจกทั้งต้น เช่นเดียวกัน เอาไปต้มกับน้ำท่วมยาให้เยอะหน่อยจนเดือดแล้วดื่มขณะอุ่นวันละ 2-3 แก้ว หรือดื่มเรื่อยๆต่างน้ำชาจะเป็นยาช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหารได้เป็นอย่างดี สมัยก่อนคนที่เป็นโรคเบื่ออาหาร หมอยาพื้นบ้านอีสานจะเจียดยาสูตรดังกล่าวให้ต้มรับประทาน ทำให้กลับมารับประทานอาหารได้ปกติร่างกายแข็งแรงขึ้น
      สิงโตพัดเหลือง หรือ CIRRHO- PETALUM  RETUSIUSCULUM (RCHB.F.) HEMSLEY มีชื่อพ้อง BULBOPHYLLUM RETUSI-USCU LUM RCHB.F. เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกมีการเจริญเติบโตทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยหรือลำต้นสูง 1-2 ซม. มีใบ 1 ใบ ต่อ 1 ลำลูกกล้วย ดอก ออกเป็นช่อจากโคนกอ มีดอกย่อยเรียงแผ่เป็นรูปพัด สีเหลืองสดใส มีแต้มสีแดงส้มสวยงามมาก ดอกออกเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น ปัจจุบัน สิงโตพัดเหลืองมีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง คุณวิรัชหน้าธนาคารออมสิน ราคาสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับและเป็นพืชสมุนไพรได้ทั้ง 2 อย่างพร้อมกันเวลามีดอกจะงดงามมากครับ.
สารส้มดินสอพอง แก้น้ำกัดเท้า
สารส้ม
      ในช่วงนี้ มีหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมและบางแห่งมีน้ำขังเป็นเวลานานจนน้ำเน่าเสีย ทำให้ผู้มีที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวต้องเดินลุยน้ำ เข้าออกบ้านวันละหลายๆเที่ยว บางครั้งอาจล้างเท้าไม่สะอาดเป็นสาเหตุให้เกิด โรคน้ำกัดเท้า อยากทราบว่ามีสมุนไพรอะไรรักษาได้บ้าง 
      เกี่ยว กับปัญหาดังกล่าวตำรายาแผนไทยระบุว่า ถ้าเกิด โรคน้ำกัดเท้า ใหม่ๆให้เอา สารส้มกับ ดินสอพองทั้งสองอย่างจำนวนเท่ากันคือ 10 กรัม บดเป็นผงผสมให้เข้ากันอย่างดี จากนั้นนำไปใส่ภาชนะตั้งไฟอ่อนๆ พอร้อน นำเอาผงที่ได้ไปทาบริเวณที่เกิดน้ำกัดเท้าวันละ 3-4 ครั้ง ไม่กี่วันอาการที่เป็นจะค่อยๆแห้งและหายได้ในที่สุด สูตรนี้นิยมใช้กันมาแต่โบราณแล้ว
      ส่วนผู้อ่านไทยรัฐ ที่ต้องการทราบว่า เวลาเดินลุยน้ำลึกๆ แล้วถูกปลิงเข็มหรือปลิงควายตัวใหญ่ๆเข้าทวารหนักดูดเลือดมีเลือดไหลออกมา ถ้าไม่ไปพบแพทย์ปัจจุบันเอกซเรย์แล้วคีบออก ในทางสมุนไพรมีวิธีทำ ให้ตัวปลิงที่เข้าทวารหนักออกมาอย่างไร ขอให้แนะนำเป็นวิทยาทานบ้าง ซึ่งใน ทางสมุนไพรมีอยู่วิธีเดียวและนิยมใช้กันมาช้านานแล้วคือ หากใครถูกตัวปลิง ไม่ว่าจะเป็นปลิงเข็มหรือปลิงควายเข้าสู่ทวารหนักดูดเลือดมีเลือดไหลออกมาอย่างน่ากลัว ให้เอา น้ำผึ้งแท้จำนวนครึ่งแก้วกินเข้าไป จะทำให้ตัวปลิงออกมาจากทวารหนักเองในเวลาไม่นานนัก สูตรดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ที่ถูกตัวปลิงเข้าทวารหนักอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลใช้เป็นทางเลือกเท่านั้น ดีที่สุดให้แพทย์ปัจจุบันช่วยเหลือแน่นอนกว่า
สะบ้ามอญ  ต้นกิ่งก้านสระผมดี
สะบ้ามอญ
      สมัย เป็นเด็กบ้านนอกจำได้ว่า คุณยาย มีวิธี รักษาเส้นผมให้แข็งแรงและดกดำเป็นเงางามอยู่เสมอ ด้วยวิธีธรรมชาติแบบง่ายๆ คือ นำเอาต้นหรือกิ่งก้านของ สะบ้ามอญที่ยังไม่แก่นัก กะจำนวนตามที่จะ ใช้ในแต่ละครั้ง ทุบด้วยด้ามขวานหรือท่อนไม้จนบุบแตกแล้วผึ่งลมพอหมาด นำไปตีขยี้กับน้ำในกะละมังจะเกิดฟองลื่นเหมือนกับฟองสบู่
      จากนั้น นำเอาน้ำดังกล่าวชโลมบนเส้นผมให้ทั่วๆ ขยี้เกาหนังศีรษะเหมือนกับการสระผมทั่วไปจนพอใจแล้วล้างออก จะทำกี่ครั้งก็ได้ตามความพอใจ เมื่อใช้ผ้าเช็ด เส้นผมให้แห้งจะพบว่ามีกลิ่นหอมเป็นธรรมชาติ ช่วยทำให้เส้นผมแข็งแรง ดกดำเป็นเงางาม ไม่แตกปลาย และไม่เป็นรังแคคันหนังศีรษะ ซึ่งในยุคสมัยนั้นเราจะสังเกตพบว่า คนเฒ่าคนแก่ เส้นผมจะหงอกช้าและผมดกไม่ร่วงง่ายเหมือนกับคนในยุคปัจจุบัน ก็   เพราะคนโบราณรู้จักนำเอาธรรมชาติมารักษานั่นเอง
      สะบ้ามอญ หรือ ENTADA SCANDENS, CENTH อยู่ในวงศ์ MIMOSEAE เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้ใหญ่ ลำต้นแบนและมักบิดเป็นเกลียว ดอก ออกเป็นช่อกระจุก สีขาวอมเหลือง ผลเป็นฝักยาว มีเมล็ด 5-7 เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม รูปทรงคล้ายสะบ้าหัวเข่า ในเทศกาลสงกรานต์ชาวมอญนิยมเอาเมล็ดทอยเล่นกันสนุก เรียกว่า เล่นสะบ้าจึงถูกเรียกชื่อว่า สะบ้ามอญดังกล่าว พบขึ้นตามป่าราบทุกภาคของประเทศไทย
      นอกจาก ต้นและกิ่งก้านใช้สระผมช่วยให้ผมดกดำเป็นเงางาม เส้นผมแข็งแรง ไม่เป็นรังแคคันหนัง ศีรษะแล้ว ลำต้นกิ่งก้านยังใช้เป็นยาขับพยาธิผิวหนัง ได้ เมล็ด แก้โรคผิวหนัง โดย ใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น หากนำเมล็ดไปสุมไฟจนเป็นถ่าน กินแก้พิษไข้ได้
      สะบ้ายังมีอีก 3 ชนิด แต่ละชนิดจะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้เถาเลื้อยเหมือนกันหมด จะแตกต่างกันที่ขนาดเมล็ดกับขนาดของฝักเท่านั้น คือ สะบ้าลายชนิดนี้จะมีเมล็ด 2-3 เมล็ดต่อฝัก ไม่นิยมนำไปใช้เป็นสมุนไพร ชนิดที่ 2 คือ สะบ้าดำชนิดนี้มีเมล็ด 7-8 เมล็ดต่อฝัก แต่ขนาดของเมล็ดและขนาดของฝักจะเล็กกว่า สะบ้ามอญนิยมเอาเมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หิด เหา ผื่นคัน และโรคผิวหนัง ชนิดสุดท้าย ได้แก่ สะบ้าเลือดชนิดนี้เปลือกเมล็ดจะแข็งมาก พบขึ้นทางภาคเหนือ นิยมนำไปหุงเป็นน้ำมันทาแก้กลากเกลื้อน มีเมล็ดขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 24 แผง คุณนิดคุณหล้าราคา สอบถามกันเองครับ.
สลัดได  กับสูตรแก้ปวดฟันเหงือกดี
สลัดได
      สูตรนี้  “คุณเสรี ธนถาวรลาภส่งให้บอกต่อผู้อ่านไทยรัฐเพื่อเป็นวิทยาทาน ซึ่งเป็นการนำเอาต้น สลัดไดใช้ประโยชน์นอกเหนือจากสรรพคุณทางสมุนไพรโดยตรงของต้น สลัดไดที่บันทึกไว้อย่างเป็นทางการ คือ ให้เอาต้น สลัดไดยาวประมาณ 1 คืบ มือผู้ใหญ่ ต้มกับน้ำจำนวนครึ่งลิตรจนเดือดแล้วใส่เกลือป่นลงไปพอให้มีรสเค็ม จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำใส่ภาชนะไว้ ส่วนกากที่เหลือทิ้งไป ใช้บ้วนปากแล้วบ้วนทิ้งวันละครั้งตอนไหนก็ได้ บ้วนอาทิตย์ละ 2 วัน จะช่วยให้หายปวดฟัน และ เหงือกแข็งแรง แต่ คุณเสรีเจ้าของสูตรบอกว่า หลังจากบ้วนปากแล้วจะรับประทานอาหารไม่รู้รสชาติระยะหนึ่ง จากนั้นจะหายไปเอง และ คุณเสรียืนยันว่าได้ทดลองด้วยตัวเองกับคนในครอบครัวแล้วได้ผลดีจริงๆ
      อย่างไรก็ตาม ถ้าใครจะใช้สูตรดังกล่าวควรพิจารณาให้ดี เนื่องจาก ยาง ของต้น สลัดไดมีพิษ เมื่อถูกผิวหนังจะเกิดอาการระคายเคือง และสารที่พบได้แก่สาร 3–0–ANGELOY- LINGENOL ซึ่งเป็นสารร่วมก่อมะเร็ง COCARCINOGENจึงต้องระมัดระวังในการใช้
      สลัดได หรือ MALAYAN SPURGE TREE, EUPHOR BIA ANTIQUORUM  LINN. อยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น สูง 3-6 เมตร ทุกส่วนมียางสีขาว ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม อวบน้ำ เว้า และคอดต่อกัน ตามแนวสันหรือเหลี่ยมมีหนามแข็ง 1 คู่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่กลับ ขนาดเล็ก อวบน้ำ หลุดร่วงง่าย จึงทำให้ดูคล้ายไม่มีใบ
      ดอก ออกเป็นช่อสั้น โดยออกในแนวสันเหนือหนาม ใบประดับสีเหลือง ดอกตัวผู้และตัวเมียไม่มีกลีบดอก อยู่ในช่อเดียวกัน ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ขนาดเล็ก ลักษณะผลแบ่งเป็น 3 พู ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง ส่วนใหญ่นิยมปลูกเฉพาะตามสวนสมุนไพร ไม่พบมีต้นวางขายที่ไหน
      สรรพคุณทางยา ที่บันทึกเป็นวิชาการของ สลัดไดคือ ต้นที่แก่จัดจะเกิดแก่นแข็ง  และเมื่อต้นตายแก่นนี้เรียกว่า กะลำพักมีกลิ่นหอม ตำรายาไทย ใช้เป็นยาแก้ไข้ ยางมีพิษระคายเคืองผิวหนังตามที่กล่าวข้างต้น ใช้เป็นยากัดหูด ถ้าทำให้ยางสุกด้วยการนึ่ง แล้วตากให้แห้งใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรงได้  มีชื่อเรียกอีกคือ กะลำพัก เคียะผา เคียะเลี่ยม และ หนอนงู ครับ.
สะระแหน่กลิ่นตะไคร้ หอมชื่นใจ
สะระแหน่กลิ่นตะไคร้
      พืชผักกินได้ ในตระกูลสะระแหน่หรือ มินต์ เมนทอล มีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีกลิ่นหอมและลักษณะการใช้สอยประโยชน์ไม่เหมือนกันตามถิ่นกำเนิดที่พบ ยกตัวอย่างเช่น เปปเปอร์มินต์ ของประเทศ ในแถบยุโรป อเมริกา จะมีกลิ่นหอมแรงคล้ายกลิ่นหมากฝรั่งเวลาเคี้ยว นิยมใช้ปรุงอาหารดับกลิ่นคาวหลายอย่าง และ สะระแหน่ไทย กลิ่นจะหอมเย็นเผ็ดร้อน คนไทยนิยมเอายอดและใบกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ ก้อย น้ำตก แต่งกลิ่นอาหารให้มีกลิ่นหอมดับกลิ่นคาว เช่น ใส่พร่าเนื้อ ยำชนิดต่างๆ ทำให้มีกลิ่นหอมชวนรับประทานยิ่งขึ้น รวมทั้งนิยมใช้แต่งกลิ่นแต่งรสชาติในอาหารอิสลาม ใส่ข้าวหมกไก่ ข้าวหมกแพะ เป็นต้น
       ส่วน สะระแหน่กลิ่นตะไคร้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเวียดนาม เพิ่งพบมีต้นวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอก ไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งผู้ขายบอกว่าเป็นหนึ่งในสองสายพันธุ์สะระแหน่เวียดนาม โดยอีกสายพันธุ์หนึ่งเคยแนะนำในคอลัมน์ไปนานแล้ว ซึ่งชนิดนั้นกลิ่นจะหอมเย็นเหมือนกลิ่น มินต์ เมนทอล ทั่วไป ไม่แปลกอะไร แต่ สะระแหน่กลิ่นตะไคร้กลิ่นของใบจะหอมแรงมาก คล้ายกลิ่นหอมของตะไคร้แกงทุกอย่าง เด็ดใบขยี้ดมได้กลิ่นหอมอย่างชัดเจน ชาวเวียดนามนิยมกินเป็นผักสดกับอาหารคาวหลายอย่าง โดยเฉพาะกินกับ ขนมจีนเวียดนาม จะเพิ่มกลิ่นหอม ทำให้รับประทานอร่อยยิ่งขึ้น ใครที่ไปเที่ยวประเทศเวียดนามหากเดินตลาดเช้าจะพบ สะระแหน่กลิ่นตะไคร้วางรวมกับผักสดชนิดต่างๆบนถาด ให้ลูกค้ารับประทานกับ ขนมจีนเวียดนาม มากมาย
      สะระแหน่กลิ่นตะไคร้ หรือ MENTHA PULEGIUM อยู่ในวงศ์ LABIATAE เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งก้านเยอะ ทุกส่วนของต้นมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ใบเป็นใบ เดี่ยว ออกตรงกันข้ามเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบเกือบมน โคนใบมน ก้านใบยาว ไม่สั้นเหมือน สะระแหน่ไทย ผิวใบมีรอยย่นเหมือนใบสะระแหน่ทั่วไป ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวคือ กลิ่นจะหอมแรงคล้ายกลิ่นของตะไคร้แกง นิยมกินเป็นผักสดกับอาหารคาวทั่วไป และใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารได้ดีมาก ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น มีต้นขายที่ บริเวณโครงการ 2 แผง ป้าแอ๊ด­คุณขวัญราคาสอบถามกันเอง

ประโยชน์ของสะระแหน่ทั่วไป ใบสดมีกลิ่นหอมร้อน ขับลม ขับเหงื่อ ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ใบขยี้ดมแก้หืด ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ใบแห้งชงน้ำร้อนดื่มช่วยย่อยอาหาร ใบสดขยี้ทาขมับแก้ปวดหัว ดมแก้ลม ขยี้ทาแก้ฟกบวมครับ.
โสน ด้วงจากต้นอร่อย
          คนส่วนใหญ่ จะรู้จัก "โสน" เป็นอย่างดี เพราะดอกกับยอดอ่อนของ "โสน" รับประทานได้ทั้งแบบสดหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆได้อร่อยมาก บางคนนิยมเอาไปผัดกับน้ำมันแล้วราดน้ำกะทิเล็กน้อยกินกับน้ำพริกมะขาม หรือชุบไข่ทอดทำแกงส้มใส่ปลาทะเลรสชาติเด็ดขาดนัก ที่สำคัญดอก "โสน" ยังสามารถนำไปทำเป็นขนมหวานได้อีก เรียกว่า "ขนมดอกโสน" นิยมรับประทานกันแพร่หลายมาช้านานแล้ว
โสน
          สมัย เป็นเด็กบ้านนอกจำได้ว่า ต้น "โสน" มักมีขึ้นอยู่ตามที่ชื้นแฉะ หรือที่ลุ่มต่ำริมชายน้ำลำคลองและริมคันนามากมาย โดยจะขึ้นเป็นกลุ่มๆหลายๆต้น มีดอกเป็นสีเหลืองเต็มต้น ซึ่งต้นจะตายง่ายและ ในลำต้น มักมีตัวหนอนเจาะเข้าไปออกไข่และฟักเป็นตัวอยู่ กลางลำต้นตลอดทั้งต้น เมื่อต้นตายผ่าออกจะพบตัวหนอนอวบอ้วนจำนวนมากเอาไปดองกับน้ำเกลือกินกับน้ำพริกอร่อยมาก
บางคนคั้นน้ำกะทิสดข้นๆใส่ภาชนะแล้วเอาตัวหนอนเป็นๆใส่ลงไป ตัวหนอนจะดูดกินน้ำกะทิจนแห้งหมด ทำให้ตัวหนอนเหล่านั้นอ้วนมัน จากนั้นเอาตัวหนอนไปผัดกับผักกินเป็นอาหารอร่อยมาก ซึ่งตัวหนอนนี้เรียกว่า "ด้วงโสน" สมัยก่อนมีราคาแพง นานๆจะมีคนเอาไปขายในตลาดสักครั้ง คนมีเงินหรือมีสตางค์ สมัยก่อนนิยมรับประทานอย่างกว้างขวาง โดยในส่วนนี้น้อยคนนักจะรู้จัก ปัจจุบันไม่มีแล้ว
          ในทางสมุนไพร หรือ ประโยชน์ทางยา ใบ รสจืดเย็น ตำผสมกับดินประสิวและดินสอพองทาหรือพอกฝีแก้ปวด ถอนพิษดีมาก ดอก รสหวานเย็น กินสมานลำไส้ ราก รสจืด ต้มน้ำดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำได้
       โสน หรือ SESDANIA ROXBURGHIS MERRIL อยู่ในวงศ์PAPILIONEAE ต้นสูง 2-4 เมตร ต้นและกิ่งก้านหักง่าย ไม่มีแก่น แตกกิ่งก้านเยอะในส่วนปลายยอด เป็นพุ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบสั้น ใบย่อยออกเป็นคู่ๆ 10-30 คู่ มีขนาดเล็กคล้ายใบมะขามหรือใบกระถิน ออกตรงกันข้าม เป็นรูปขอบขนาน สีเขียวสด
      ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 10-15 ดอก กลับดอกดูคล้ายรูปผีเสื้อ มีจำนวน 5 กลีบ เป็นสีเหลืองสด ดอกออกช่วงฤดูร้อน "ผล" เป็นฝักคล้ายกระเช้า หรือคล้ายฝักถั่วเขียว แต่จะยาวกว่า มีเมล็ดจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกคือ โสนกินดอก โสนหิน (ภาคกลาง) ผักฮอง-แฮง (ภาคเหนือ) และสีปรีหลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ครับ.
สาบเสือ ยอดสมุนไพรข้างทาง
สาบเสือ
      แฟนคอลัมน์ ที่เพิ่งจะเปลี่ยนมาซื้อไทยรัฐอ่านไม่นานอยากทราบว่าต้น "สาบเสือ" ที่ขึ้นข้างทาง ใบมีกลิ่นฉุนจัด และดอกแห้งถูกลมพัดปลิวทำให้รำคาญ มีประโยชน์ทางยาหรือไม่ ซึ่ง ความจริงแล้วต้น "สาบ-เสือ" ถือเป็นสุดยอดสมุนไพรข้างทางเลยทีเดียว โดย ใบสดตำผสมกับปูนกินกับหมากพลูพอกแผลห้ามเลือดชะงัดนัก ใบสด ยังตำเดี่ยวๆปิดแผลสดทำให้แผลสมานดีมาก ทั้งต้นสดมีกลิ่นฉุนแรง ตำหมักน้ำเอาน้ำทำเป็น ยาฆ่าแมลงได้ หากใช้เล็กน้อยเป็นน้ำหอมได้เช่นกัน
      นอกจากนั้น รากผสมกับรากมะนาวและรากย่านาง ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ป่าเด็ดขาดจริงๆ ใบสดผสมเกลือป่นตำพอกแผลห้ามเลือด ใบและดอกตำบีบน้ำทาห้ามเลือดได้ ซึ่ง สาร 4, 5, 6, 7 TETRAMETHOXY FLAVONE และแคลเซียมพบในใบ ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น สารสกัดจากกิ่งและใบ ด้วยคลอโรฟอร์ม และ อะซีโตน มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย STAPHYLOCOCCUS AUREUS และ BACILLUS SUBTILIS ซึ่งทำให้เกิดหนองได้ดี
      สาบเสือ CHROMOLAENA ODORATA LINN. KING ET ROBINS. EUPATORIUM ODORA-TUM LINN. อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ต้นใบมีกลิ่นฉุนและมีขน พบขึ้นข้างทางและตามป่าราบทั่วไป นิยมปลูกเฉพาะตามสวนสมุนไพรใหญ่ๆไม่กี่แห่งเท่านั้น
สาบเสือ กับสูตรบำรุงไต
      สาบเสือ กับสูตรบำรุงไต คนที่ไม่ได้เป็นโรคไตก็กินได้ และ คนที่มีอาการใหม่ๆยังไม่รุนแรง เช่น ฉี่บ่อย แต่ฉี่ออกครั้งละนิดละหน่อย ฉี่ไม่พุ่ง เรียกว่าเริ่มจะมีอาการไตไม่ดี ให้เอาต้น "สาบเสือ" ทั้งต้นรวมราก ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากจนแห้งแล้วนำไปคั่วไฟอ่อนๆ จนเหลือง หยิบใส่แก้วพอประมาณ ชงกับน้ำร้อนดื่มต่างน้ำชาทันที จะช่วยบำรุงไตให้แข็งแรง และอาการฉี่ไม่พุ่ง ฉี่บ่อยๆจะหายได้ จึงแนะนำผู้อ่านไทยรัฐเป็นวิทยาทานอีกตามระเบียบ
      สาบเสือ อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE มีขึ้นตามป่าข้างทางทั่วไป มีสรรพคุณทางยาคือ ใบสด ตำผสมกับปูนกินกับหมากใบพลูพอกแผลห้ามเลือด ใบสดตำเดี่ยวๆปิดแผลสด สมานรอยแผลดีมาก
      ทั้งต้น มีกลิ่นฉุนแรงตำหมักเอาน้ำทำเป็นยาฆ่าแมลง ใช้เล็กน้อยเป็นน้ำหอม สมัยเป็นเด็กบ้านนอก "นายเกษตร" ชอบเอาใบสดเผาหรือสุมบนกองไฟไล่ยุ่งได้เด็ดขาดนัก รากผสมกับรากมะนาวและรากย่านางต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ป่า ใบสดผสมเกลือป่นตำพอกแผลห้าม เลือด ใบและดอกตำบีบน้ำทาห้าม เลือดเช่นกัน "สาบเสือ" มีสาร 4, 5, 6, 7 TETRANETHOXY FLAYONE และแคลเซียม ในใบทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น สารสกัดจากกิ่งและใบด้วย คลอโรฟอร์มและอะซีโตน มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย STAPHY LOCOCCU SAUREUS และ BACILLUS SUBTILIS ซึ่งทำให้เกิดหนองได้ดี ปัจจุบันต้น "สาบเสือ" มีขายที่ตลาดนัด ไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ราคาสอบถามกันเอง
สาบเสือ แก้โรคไตขั้นแรก
      ใครที่เพิ่งจะรู้ตัวว่ามีอาการของไตไม่ดี หรือ เริ่มเข้าสู่การเป็นโรคไตขั้นแรกยังไม่รุนแรง ในทางสมุนไพรพอช่วยได้ โดยให้เอา ต้นและใบของ สาบเสือไม่รวมราก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแห้ง นำไปคั่วไฟอ่อนๆ จนให้มีกลิ่นหอมโชยขึ้นจมูก ผึ่งให้เย็น ชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นน้ำชา 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น ครั้งละ 1 แก้ว ชงดื่มทุกวัน จะช่วยให้อาการของโรคไตขั้นแรกค่อยๆดีขึ้นหรืออาจหายได้
      สาบเสือ หรือ CHROMOLAENA  ODORATA (LINN.) KING ET ROBINS. (EU-PATORIUM  ODORATUM  LINN.) อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE มีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป เป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว นิยมปลูกเฉพาะตามสวนสมุนไพรเท่านั้น ใบ ตำผสมปูนพอกห้ามเลือด ตำปิดแผล เป็นยาสมาน แผล ทั้งต้น มีกลิ่นแรงใช้ทำยาฆ่าแมลง ถ้าใช้แต่น้อยเป็นน้ำหอมได้ ราก ผสมรากมะนาว รากย่านางต้มน้ำ ดื่มแก้ไข้ป่า ใบ ตำผสมเกลือป่นเล็กน้อยพอกแผลห้าม เลือด ใบและดอก ตำบีบน้ำทาห้ามเลือด สาร 4,5,6,7 TETRAMETHOXYFLAVONE และแคลเซียมที่พบในใบทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น
      สารสกัด จากกิ่งและใบด้วย คลอไรฟอร์ม และ อะซีโตน มีผลยับยั้งการ เจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย STAPHY- LOCOCCUS  AUREUS และ BACIL- LUS  SUBTILIS ซึ่งทำให้เกิดหนอง

ส้มเสี้ยว  สูตรแก้ น้ำเหลืองเสีย สิวเขรอะ
ส้มเสี้ยว
      ในยุคสมัยก่อน   โรคน้ำเหลืองเสียมีคนเป็นกันเยอะ   เมื่อเป็นแล้วจะมีเม็ดคันขึ้นตามร่างกายเต็มไปหมด   บางครั้งมีหนองรักษาไม่รู้จักหายเหมือนกับคนเป็นโรคเบาหวาน   และยังทำให้เกิดสิวขึ้นตามใบหน้าเขรอะกลายเป็นแผลเป็นกลุ้มใจมาก หมอยาแผนไทยในยุคสมัยนั้นมีวิธีรักษาคือ ให้เอาใบ "ส้มเสี้ยว" เป็นหลักกับ ใบส้มป่อย ใบมะขาม ใบมะขามแขก ผลสมอไทยแบบสด  กับเข้าเย็นเหนือ  เข้าเย็นใต้  และยำดำ (3 ชนิดหลังมีขายตามร้านยาแผนไทย) จำนวนเท่ากัน อย่างละ 15 กรัม ต้มกับน้ำ 3 ส่วน กะเอาเองจนเดือดเคี่ยวเหลือ 1 ส่วน ดื่มตอนอุ่นครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ 2 เวลา เช้า-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ถ้าเป็นเด็กให้ลดสัดส่วนลงตามสมควร ดื่มได้เรื่อยๆจนกว่าอาการจะหาย  และยังช่วยชำระเมือกในลำไส้  ละลายเสมหะ  และสิวที่ขึ้นเขรอะจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้เช่นกัน
      ส้มเสี้ยว หรือ BAUHINIA MALABARICA, ROXB, RETUSA, ACUMINATA อยู่ในวงศ์ CAESALPINEAE เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบดกหนาทึบ ใบคล้ายใบชงโค รสเปรี้ยวเหมือนกับใบส้มป่อย ดอกสีขาวสวยงามมาก  ผลเป็นฝักมีเมล็ด  ซึ่งไม้ในตระกูลนี้มีทั้งไม้เถาและไม้ต้น   ใช้ได้ เหมือนกันหมด   ชนิดไม้เถาเปลือกต้นยังใช้ทำเป็นปอได้ดีเพราะเหนียวมาก ทางยา ใบขยี้พอกรักษาแผลเปื่อย ขับระดูมีกลิ่นเหม็น ขับปัสสาวะ ขับเมือกเสมหะได้ เปลือกต้นรสฝาดปนเปรี้ยวต้มดื่มแก้ไอฟอกโลหิต ใบแก่ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคันตามตัวดีมาก ทางอาหาร ใบอ่อนกินเป็นผักสด ใส่ต้มปลา ต้มเนื้อ อร่อยมาก ผล กินได้รสฝาดปนเปรี้ยว ต้น "ส้มเสี้ยว" มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวน จตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์"
สมอไทย  มีต้นใหญ่ขาย
สมอไทย
      ปกติต้น "สมอไทย" จะหาซื้อต้นกล้าที่มีขนาดเล็กเพื่อนำไปปลูกได้ยากมาก เนื่องจากไม่มีใครขยายพันธุ์ขาย จึงทำให้ผู้อ่านไทยรัฐที่ชื่นชอบปลูกไม้ยืนต้นชนิดมีคุณค่าทางสมุนไพรขอให้แนะนำแหล่งจำหน่ายบ้าง ซึ่งเป็นจังหวะที่พบว่ามีต้น "สมอไทย" ที่เป็นต้นขนาดใหญ่วางขายที่ตลาดนัดไม้ดอก ไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโซนขายไม้ยืนต้น ปราจีนบุรี จึงรีบบอกกล่าวแฟนคอลัมน์ทันที
      สมอไทย จัดเป็นไม้สมุนไพรชั้นดีชนิดหนึ่ง อยู่ในตำรับยาอายุวัฒนะหลายสูตร ซึ่งหนึ่งในสูตรดังกล่าว ได้แก่ "ตรีผลา" ประกอบด้วยผลไม้ 3 ชนิด รับประทานประจำจะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดไตรกลีเซอไรด์ได้ดีมาก และ "สมอไทย" ยังถูกนำไปเข้ากับตำรับยาอื่นๆอีกมากมาย นิยมใช้กันมาแต่โบราณแล้ว และที่สำคัญ ผลสมอ ยังมีประวัติว่า พระพุทธเจ้า ได้รับการถวายให้เสวยหรือฉัน เป็นยาอายุวัฒนะขณะออกบวชด้วย
สมอไทย หรือ TERMINALIA CHEBULA RETZ. YAR.CHEBULA ชื่อสามัญ MYRO-BALAN TREE, INK NUT TREE อยู่ในวงศ์ COMBRETACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-20 เมตร ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยวออกตรง กันข้าม  รูปไข่กว้าง  ปลายและโคนใบแหลม ใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด
      ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก มีเกสรตัวผู้ 10 อัน สีเหลืองอมเขียว ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.4 ซม. ดอก มีกลิ่นหอม "ผล" รูปค่อนข้างกลม เปลือกผลมักเป็นพู 5 พู เมื่อผลแห้งเป็นสีดำ ผิวเปลือกย่น มี 1 เมล็ด ดอกออกช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด นิเวศวิทยาและถิ่นกำเนิดเอเชียตอนใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจ-พรรณ และขึ้นกระจายในป่าสักที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร มีชื่อ เรียกอีกคือ ม่าแน่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) สมอพัทยา (ภาคกลาง) และ หมากแน่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
      ประโยชน์ เปลือกและผลมีสาร PYROG-ALLOL ให้สีดำใช้ย้อมผ้า แห อวน ทำน้ำหมึก ไม่ใช้ก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเกษตร ผลที่เป็นผลอ่อน เป็นยาระบาย ผลแก่ ฝาด สมานเป็นยาแก้ท้องเดิน แก้ไข้ เสมหะเป็นพิษ บิด ดีพิการ และ ช่วยทำให้นอนหลับได้ดีมากด้วยครับ.
สะเดาดำ ดอกมีสารให้ประโยชน์
สะเดาดำ
      ผม เคยแนะนำ "สะเดาดำ" ไปนานแล้ว พร้อมระบุว่า ยอดอ่อนและดอกอ่อนของ "สะเดาดำ" กินอร่อยได้เหมือนกับยอดอ่อนและดอกอ่อนของสะเดาเขียวทุกอย่าง จะแตกต่างกันที่สีของใบและดอก "สะเดาดำ" จะเป็นสีน้ำตาลคล้ำเกือบดำ ดอกเป็นสีชมพูอมม่วงสวยงามมาก และเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเที่ยวที่สวนขยายพันธุ์ไม้ของเพื่อนย่านตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย กทม. พบว่ามีต้น "สะเดาดำ" ปลูกและขยายพันธุ์อยู่จำนวนมาก
      โดยเฉพาะ ต้นแม่หลายต้นกำลังอยู่ระหว่างมีดอกเต็มต้น สีสันสวยงามน่ารักมาก เจ้าของสวนบอกว่า ช่วงที่ผมไปเที่ยวเป็นช่วงที่ "สะเดาดำ" กำลังแตกยอดอ่อน และมีดอกเหมือนกับสะเดาเขียวทั่วไป แต่เจ้าของสวนบอกว่าเก็บรับประทานและแจกเพื่อน บ้านใกล้เคียงแล้วกินไม่หมด จึงปล่อยให้ดอกบานตามธรรมชาติดูงดงามแปลกตายิ่ง เจ้า ของสวนบอกต่ออีกว่า มีงานวิจัยระบุดอกของ "สะเดาดำ" มีสารให้ประโยชน์ กินแล้วช่วยต้านมะเร็งได้ แต่จำไม่ได้ว่าสารดังกล่าวชื่ออะไร ผมเองค้นข้อมูลก็ไม่พบ แต่เห็นว่าดอกของ "สะเดาดำ" สวยงามจริงๆ สามารถปลูกเป็นไม้ประดับและไม้กินยอดในต้นเดียวกันได้คุ้มค่า จึงแนะนำในคอลัมน์อีกครั้งตามระเบียบ
     สะเดาดำ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับสะเดาเขียวทุกอย่าง  เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-20 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทาอมน้ำตาลคล้ำ  เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อย 7-9 คู่ ใบเป็นรูปใบหอกโค้ง ปลายเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบจักไม่เป็นระเบียบ ใบแก่ และยอดอ่อนเป็นสีน้ำตาลคล้ำเกือบดำ ยอดอ่อนและดอกอ่อนลวกรับประทานกับปลาดุกย่าง น้ำปลาหวาน รสชาติขมปนมันอร่อยเหมือนกับสะเดาเขียวทุกอย่าง
      ดอก ออกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีชมพูอมม่วง มีเกสรตัวผู้สีเหลืองอมส้มจำนวน 10 อัน ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. เวลามีดอกตามฤดูกาลและปล่อยให้ดอกบานไม่เก็บรับประทาน จะดูสวยงามน่ารักมาก "ผล" รูปกลมรี ผิวผลบาง มีเนื้อและฉ่ำน้ำ ผลแก่เป็นสีเหลือง มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบยอด มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ราคาสอบถามกันเองครับ.
สะเดามันทะวาย กินทั้งปีมีสรรพคุณ
สะเดา​มัน​ทะวาย
      หลายคนถามว่า กินสะเดาแล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะยอดอ่อนดอกอ่อนมีรสขมจัดรับประทานยากชะมัด ขนาดต้มหรือลวกสองหรือสามครั้งรสขมยังไม่จางหายไป ปัจจุบัน ใครที่กินสะเดาที่มียอดอ่อนดอกอ่อนรสขมไม่ได้ ไม่ต้องกังวลต่อไป เพราะมี สะเดามันทะวายวางขายให้ซื้อไปปลูก และซื้อดอกอ่อนยอดอ่อนไปรับประทานมากมาย ซึ่งสะเดา ชนิดนี้ จะมีรสชาติมันเป็นหลัก มีรสขมนิดๆ ติดปลายลิ้นเคี้ยวอร่อยมาก กินสดๆ ไม่ต้องลวกก็ได้ แต่ถ้านำไปลวกรสขมจะไม่มีเลย จะออกรสมันเพียงอย่างเดียว กินกับปลาดุกย่างน้ำปลาหวานเลิศรสจริงๆ
      ส่วน ประโยชน์ของสะเดา ทั้งชนิดที่มีรสขมและรสมัน รับประทานแล้วจะมีสารอาหาร ช่วยระบบคุ้มกันร่างกายต้านเชื้อโรคที่มีอยู่รอบกายได้ โดยเฉพาะเชื้อหวัด หรือ โรคที่เกาะติดอยู่ตามโต๊ะ ภาชนะ จาน ช้อน หรือแก้วน้ำ เป็นต้น คนสูงอายุเหมาะจะรับประทานสะเดาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีรายงานว่า POLYSACCHARIDES และ LIMONOIDS ที่พบในเปลือก ใบ และผลสะเดา ลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก และ มะเร็ง ได้โดยไม่ก่อผลข้างเคียงแต่อย่างใด และสะเดา ยังช่วยรักษาการเต้นของหัวใจดีด้วย ในประเทศอินเดีย สะเดาจะมีความผูกพันในวิถีชีวิตชาวบ้านเป็นอย่างมาก ตื่นเช้าขึ้นมาชาวอินเดียจะหักเอาก้านสะเดาทุบแปรงฟัน ทำให้ฟันสะอาด และยังใช้สบู่ที่ผลิตขึ้นจากผลสะเดาเป็นประจำ ใบสด ยังใช้ต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคันต่างๆได้ดีด้วย
       ในประเทศไทย ตำรายาแผนไทยระบุว่า ใบอ่อน เป็นยาแก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสียพุพอง โดยต้มน้ำอาบ ใบแก่บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ใช้ทำสารสะเดา ฆ่าแมลงศัตรูพืชได้ดีมาก ดอก แก้พิษโลหิต พิษกำเดา แก้ริดสีดวง เป็นเม็ดคันในลำคอ และบำรุงธาตุ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสะเดาขม หรือสะเดามัน รับประทานแล้วได้ประโยชน์มหาศาล
       สะเดามันทะวาย อยู่ในวงศ์ MELLACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้น มียอดอ่อน ดอกอ่อน เหมือนกับสะเดาขมทุกอย่าง เพียงแต่รสชาติจะมันมีรสขมนิดๆ ถ้านำไปต้มหรือลวกรสขมจะไม่เหลือเลย
      ที่สำคัญ สะเดามันทะวายจะมียอดอ่อนดอกอ่อนให้ผู้ปลูกเก็บรับประทานได้ตลอดปี โดยจะแตกยอดอ่อนดอกอ่อนเว้น 2 เดือนครั้ง ปกติสะเดาขมจะมียอดอ่อนดอกอ่อนปีละครั้ง ในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น จึงทำให้  “สะเดามันทะวายกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 5 แผง คุณจันดีราคาสอบถามกันเองครับ.

หูเสือจีน ต้นกับสรรพคุณ ต่างกับหูเสือไทย
หูเสือจีน
      ผู้อ่านไทยรัฐจำนวนมาก อยากทราบว่า หูเสือจีนต่างกับหูเสือไทยอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 ชนิด ต่างกันทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสรรพคุณทางสมุนไพร โดย หูเสือจีนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า RUBUS PAVIFOLIUS LINN. เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กจำพวกไม้เลื้อย มีเหง้าหรือไหล ทั้งต้นมีขนละเอียดทั่ว ที่สำคัญต้นและใบจะไม่มีเมือกเหมือนกับต้นและใบของหูเสือไทย
      บริเวณใบและกิ่ง จะมีหนามเล็กๆขึ้นกระจายทั่ว แต่ไม่สามารถทิ่มแทงผิวหนังให้บาดเจ็บได้ ลำต้นกลมแข็งสีเขียวสด สามารถเลื้อยได้ยาวถึง 5-6 ฟุต ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดมีใบย่อย 3-5 ใบ ก้านใบหลักออกเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปพัดใบตาลหรือรูปไตโคนใบเว้า ขอบใบจักตลอด หน้าใบสีเขียวสด หลังใบสีเขียวด้าน เนื้อใบค่อนข้างหนาและเหนียว ไม่มีเมือกเหมือนใบหูเสือไทยตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีใบดกจะน่าชมมาก
       ดอก เป็นสีม่วงแกมสีขาว โดยดอกจะออกในช่วงฤดูฝนและฤดูร้อนทุกปี ส่วนฤดูหนาวจะไม่มีดอก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ผลทรงกลม เมื่อสุกเป็นสีแดง รสชาติหวานรับประทานได้ มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า ทั้งต้นรสฝาดเฝื่อน สรรพคุณ ต้นและใบ 1 ตำลึง ต้มดื่ม แก้เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เนื่องจากโรครูมาติสม์ใช้ 1 ตำลึง ต้มกับกระดูกหมูกิน ต้นและใบ ดองน้ำส้มสายชู เอาน้ำทาข้อมือข้อเท้าที่ปวด เป็นเบาหวาน ใช้ 1-2 ตำลึง ต้มกับเซี่ยงจี๊หมูกินประจำ ผื่นคันตามตัว ต้นใบต้มน้ำล้าง หรือใบขยี้ถูทาหาย อัตราส่วน 1 ตำลึง เท่ากับ 37.50 กรัม สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานเด็ดขาด
      ปัจจุบัน หูเสือจีนมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง คุณพร้อมพันธุ์ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกลงกระถางไว้ใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรจีนตามที่กล่าวข้างต้นครับ
แห้วหมู ช่วยให้ตาไม่มัว
แห้วหมู
      ตำรายาโบราณ ระบุว่า หัว แห้วหมูสด เอาเปลือกออกล้างน้ำให้สะอาดกินทุกวันตอนเช้า วันละ 2–3 หัว จะช่วยให้ดวงตาแข็งแรง ตาไม่มัว สามารถกินได้เรื่อยๆจะทำให้ตาไม่แก่ หมายถึงตาใสไม่ขุ่นมัวมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งสูตรดังกล่าวเป็นการกินป้องกันก่อนมีอาการตามัว เพราะถ้าเป็นแล้วต้องพบแพทย์อย่างเดียว สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย       แห้วหมู มี 2 ชนิด คือ แห้วหมูเล็ก รูปประกอบคอลัมน์ และ แห้วหมูใหญ่ ต่างกันที่ดอก สีของดอก และขนาดของต้น กินได้ทั้ง 2 ชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า NUTGRASS CYPERUS ROTUNDUS LINN. อยู่ใน วงศ์ CYPERACEAE หัวเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ ลดไข้ ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิด ฟัลซิพารัมในหลอดทดลอง หัวใช้ปรุงเป็นยาธาตุ ดื่มขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง ช่วยย่อยอาหาร มีหัวขาย ตามร้านยาแผนไทยทั่วไป ราคาสอบถามกันเอง.
แห้วหมู  แก้ไข้เลือดออกเบื้องต้น
แห้วหมู
      ถ้ารู้ตัวว่าเป็นไข้เลือดออก อาเจียน และมีไข้สูง มีวิธีรักษาเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ คือ ให้เอาหัว แห้วหมูสดหรือแห้งก็ได้ ถ้าเป็นแบบแห้งต้องแช่น้ำครึ่งชั่วโมง ให้หัวอ่อนลง แบบสดล้างน้ำให้สะอาด ใช้จำนวน 1 กำมือเท่ากัน ตำให้ละเอียดผสมเหล้าขาว 35 หรือ 40 ดีกรี 1 ขวด แช่ประมาณครึ่งชั่วโมง กรองเอาเฉพาะเหล้าดื่ม 1 แก้ว เพื่อขับพิษไข้ให้อาเจียนออกจนหมด หากไข้ยังสูงอยู่ดื่มได้อีก 1 แก้ว จากนั้นพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่ รพ.จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น
      หลังกลับจาก รพ.ยังปวดหัวอยู่ให้ใช้ ยา 5 ราก มี รากต้นซิงซี่ รากคนทา รากย่านาง รากเท้า-ยายม่อม และ รากมะเดื่อชุมพร จำนวนเท่ากัน เป็นแบบแห้ง กะตามสมควร บดเป็นผงตัก 1 ช้อนชา ชงกับน้ำอุ่นกิน 3 เวลาก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น จนกว่าจะหาย
      แห้วหมู หรือ NUTGRASS CYPERUS ROTUNDUS LINN. อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE พบขึ้นข้างทางทั่วไป มี 2 ชนิดคือ แห้วหมูเล็ก” (ตามภาพประกอบคอลัมน์) และ แห้วหมูใหญ่แตกต่างกันที่ความสูงของต้น และลักษณะดอก สรรพคุณทั้ง 2 ชนิดใกล้เคียงกันมาก สามารถใช้ได้ทั้ง 2 ชนิด สรรพคุณเฉพาะหัว เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ลดไข้ ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิด ฟัลซิพารัมในหลอดทดลอง หัว ใช้ปรุงเป็นยาธาตุดื่มขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง ช่วยย่อยอาหาร หัว แห้วหมูแห้งมีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง คุณพร้อมพันธุ์ราคาสอบถามกันเอง

หญ้าแห้วหมู  แก้โรคชิคุนกุนยาได้
      ในช่วงที่โรคชิคุนกุนยาระบาดหนักทางภาคใต้ มีผู้อ่านจำนวนมากสอบถามว่า ในทางสมุนไพรมียาสูตรไหนรักษาได้บ้าง เนื่องจากเป็นโรคนี้แล้วทรมานจริงๆ มันปวดไปหมดทั้งตัว กล้ามเนื้อไม่มีเรี่ยวแรง ทำงานทำการอะไรไม่ได้เลย อยากจะนอนอย่างเดียว ซึ่งใน ทางสมุนไพรนั้นมีเหมือนกันแต่เป็นสูตรที่ผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นโรคชิคุนกุนยา ต้องใช้ปัสสาวะตัวเองผสมกับหัว "หญ้าแห้วหมู" ดื่มช่วยขับพิษในร่างกายออกมาและทำให้ หายได้ ซึ่งในตอนแรกก็ไม่อยากจะเขียน เพราะสูตรนี้กลัวคนรับไม่ได้ แต่เมื่อคิดดูแล้วในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น และแอฟริกา มีการดื่มปัสสาวะตัวเองเพื่อรักษาโรคมานานแล้ว และคิดว่าไม่มีอันตรายอะไร จึงเสนอให้เป็นทางเลือก เป็นวิทยาทาน อยู่ที่ว่าผู้ป่วยจะใช้ วิจารณญาณเอาเอง
      โดย สูตรดังกล่าวมีวิธีง่ายๆ คือ เอาหัวของ "หญ้าแห้วหมู" จะเป็นแห้วหมูใหญ่หรือแห้วหมูเล็กก็ได้ จำนวน 1 กำมือแบบสด หรือแบบแห้ง นำไปแช่น้ำก่อน จากนั้นตำให้ละเอียดผสมกับปัสสาวะตัวเองที่เป็นโรคชิคุน-กุนยา หรือโรคปวดข้อยุงลาย ใช้ผ้าขาวบีบหรือคั้นเอาเฉพาะน้ำดื่มทันที แล้วนอนคลุมโปงประ-มาณ 15 นาที เหงื่อจะออกทั้งตัวเพราะตัวยาช่วยขับพิษที่อยู่ในตัวออก หรืออาจมีตุ่มแดงตามตัวด้วยจากการขับพิษนั่นเอง สามารถทำดื่มได้ 3 วันครั้ง ดื่ม 3 ครั้ง อาการจะดีขึ้นและหายได้ (ขอย้ำอีกครั้งต้องเป็นปัสสาวะตัวเองของผู้ป่วยอย่างเดียว ของคนอื่นไม่ได้ เด็ดขาด)
      หญ้าแห้วหมู มี 2 ชนิด คือ "หญ้าแห้ว หมูใหญ่" ดอกเป็นช่อคล้ายกกลังกา สีเหลืองปนเขียว มีขึ้นข้างทางทั่วไป หัวมีสรรพคุณขับปัสสาวะ หัวสดโขลก พอกบริเวณเต้านมช่วยให้มีน้ำนมมาก พอกดูดพิษภายนอก อีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ "หญ้าแห้วหมูเล็ก" ดอกสีขาวคล้ายดอกบานไม่รู้โรยขนาดเล็ก มีขึ้นทั่วไป หัวรสหวานเย็นมันเล็กน้อย บำรุงกำลัง บำรุงทารกในครรภ์ ปรุงเป็นยาธาตุขับลมในลำไส้ ทำลูกแป้งข้าวหมาก แป้งเหล้าทำให้เกิดแก๊สได้เร็ว

แห้วหมู แก้หวัดติดเชื้อ
      หวัดติดเชื้อ จะมีอาการไข้ขึ้นสูงและไอประกอบด้วย กินยาแล้วไม่หายเนื่องจากพิษกระจายถึงกระแสเลือด โดยเฉพาะไข้หวัด 2009 พบแพทย์ไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็ว ซึ่งทางสมุนไพรมีวิธีขับพิษออกจากตัวก่อนไปพบแพทย์คือ ให้เอาหัว "แห้วหมู" ตากแห้งบดเป็นผง 2 ช้อนโต๊ะ เหล้าขาว 40 ดีกรี 3 ส่วน 4 ของแก้วน้ำ เอาผง "แห้วหมู" ลงแช่ 1 ชม. กรองเอาเฉพาะเหล้าดื่มให้หมดแล้วคลุมผ้าห่มทั้งตัวเพื่อให้เกิดความร้อนจะได้ขับเหงื่อออก และเกิดอาเจียนขับพิษออกจากร่างกายให้หมดแล้วไปพบแพทย์รักษาต่อ
      แห้วหมู หรือ NUTGRASS CYPERUS ROTUNDUS  LINN. อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE เป็นไม้ล้มลุก มีด้วยกัน 2 ชนิดคือ "แห้วหมูใหญ่" กับ "แห้วหมูเล็ก" มีข้อแตกต่างกันที่ความสูงของต้นและลักษณะดอก มีสรรพคุณใกล้เคียงกันมาก ใช้ได้ทั้ง 2 ชนิด พบขึ้นข้างทางและที่รกร้างทั่วไป
      สรรพคุณทางยา หัวใต้ดิน เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงื่อและขับปัสสาวะ การทดลอง ในสัตว์พบฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดไข้ ลดความดันโลหิต ลดอาการอักเสบ ยังพบฤทธิ์ยับยั้ง การเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิด "ฟันซิพารัม" ในหลอดทดลองด้วย หัวใช้ปรุงเป็น ยาธาตุดื่มขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง ช่วยย่อยอาหาร นอกจากนั้น หัว "แห้วหมู" ยังใช้ทำแป้งข้าวหมาก และแป้งเหล้าได้อีกด้วย ปัจจุบัน หัว "แห้วหมู" มีขายที่ตลาด นัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจัตร ทุกวันพุธ- พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21
แผง "คุณพร้อม- พันธุ์" ราคาสอบถามกันเอง
เหงือกปลาหมอขมิ้นอ้อย  แก้ฝีหนองบวม
เหงือกปลาหมอ
      ใครเป็นฝีหนองบวมตามร่างกาย หมอยาแผนไทยสมัยก่อนจะเอา ต้นใบและเมล็ด ของ เหงือกปลาหมอกับ ขมิ้นอ้อยสดจำนวนเท่ากันมากน้อยตามต้องการ ตำรวมกันจนละเอียดพอกบริเวณที่เป็น 2 เวลา เช้า เย็น 2-3 วันจะแห้งหายได้
      เหงือกปลาหมอ หรือ SEA HOLLYACANTHUS  ILICIFOLIUS  LINN.  อยู่ในวงศ์  ACANTHACEAE  ทั้งต้นและเมล็ดรักษาฝี แก้น้ำเหลืองเสีย เมล็ดเป็นยาขับพยาธิ น้ำคั้นจากใบทาศีรษะบำรุงรักษารากผม ใบปรุงกับพริกไทยอัตราส่วน  2-1  บดเป็นลูกกลอนกินครั้งละ 1-2 เม็ด เป็นยาอายุวัฒนะ
      ขมิ้นอ้อย  หรือ  ZEDOARY  CURCU-MA ZEDOARIA ROSC. อยู่ใน วงศ์ ZINGIBERA-CEAE   เหง้าแก้ท้องร่วง  อาเจียน  แก้ไข้  ผสมกับยาระบายเพื่อให้มีฤทธิ์น้อยลง  และ  เป็นยาสมาน
เหงือกปลาหมอ สรรพคุณเยอะ
เหงือกปลาหมอ
      ตำรายาไทย ระบุว่าเอา เหงือกปลาหมอสดทั้งต้นรวมราก 3-5 ต้น ต้มน้ำอาบ แก้โรคผิวหนังทุกชนิด ลำต้นตำละเอียดพอกหัวฝี แผลเรื้อรังถอนพิษ ผล กินขับระดูสตรี เป็นเหน็บชา เอาต้นตำทาบริเวณที่เป็นจะดีขึ้น ฟกบวมใช้ต้นตำ ผสมขมิ้นอ้อยทา เป็นไข้จับสั่นใช้ต้นตำปนขิงบีบกินเฉพาะน้ำหายได้ เป็นโรคเรื้อนคุดทะราดต้นตำคั้นกินน้ำ และใช้ใบส้มป่อยต้มน้ำอาบด้วย เจ็บหลังเจ็บเอว ต้นตากแห้งตำละเอียด ผสมชะเอมเทศคลุกน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินวันละ 2 เม็ด เป็นริดสีดวงทวารจนมือตายตีนตายเวียนหัวตามัวเจ็บระบมทั้งตัว เอาต้นกับเปลือกมะรุมเท่ากันต้มน้ำดื่มบ่อยๆ ถ้าอยากอายุยืน ใช้ เหงือกปลาหมอสด 2 ส่วน กับพริกไทยสด 1 ส่วน ตากแห้ง ทำผงละลายน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินทุกวัน วันละ 2 เม็ด ติดต่อกัน 9 เดือน อายุยาวนาน
      เหงือกปลาหมอ หรือ ACANTUS HICI-FOLIUS อยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE มีต้นแท้ขายที่ตลาดนัด ไม้ดอกไม้ประดับ สวน จตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัส บริเวณโครงการ 21 แผง คุณพร้อมพันธุ์ราคาสอบถามกันเอง
หญ้าชันกาด กับสรรพคุณยา
หญ้าชันกาด
      ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบสรรพคุณของ หญ้าชันกาดและลักษณะต้นเป็นอย่างไร  ซึ่ง หญ้าชันกาดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ SORGHUM VULGAE HOCK หรือ PANICUM REPENS LINN. อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE หรือ POACEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี จำพวกหญ้า ลำต้นชูตั้งขึ้นสูง 40-80 ซม. มีหัวขนาดเล็กแตกแขนงเป็นแง่งเรียงต่อกันเป็นข้อๆ คล้ายขิง
      ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับระนาบเดียวกัน สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อตามปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วย ดอกย่อยขนาดเล็กเป็นเม็ดสีขาว จำนวนมากติดตามแกนช่อเป็นกระจุก พบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป แต่จะเป็นคนละชนิดกับต้น หญ้าขนที่ชาวบ้านนิยมตัดไปให้สัตว์เลี้ยงจำพวกวัวควายกิน โดยจะมีข้อแตกต่างกันคือ หญ้าชันกาดไม่มีขนและลักษณะดอกไม่เหมือนกันด้วย
      ประโยชน์ทางยา หัว ปรุงเป็นยาต้มน้ำดื่มแก้ทางเดินปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ แก้ไตทำงานไม่สะดวก หรือกระเพาะปัสสาวะพิการ ขับธาตุไข่ขาว ซึ่งเป็นตะกอนขุ่นข้นอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เป็นยาระงับความร้อน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ หัว ยังใช้ฝนกับน้ำสะอาด หยอดตาแก้ตาฟาง ตามัว ตาแฉะ แก้พิษปวดเคืองในตาด้วย
      ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ราก หญ้าชันกาดผสมหัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ลำต้นหัวร้อยรู แก่นสัก และรากทองพันชั่ง ต้มน้ำดื่ม แก้โรคเบาหวานได้ ตำรายาแผนไทย ราก หญ้าชันกาดต้มน้ำดื่มแก้ไตพิการ ช่วยให้ไตทำงานสะดวกขึ้น แก้กระเพาะปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว หนองในได้ดีมาก มีชื่อเรียกอีกคือ
      แขมมัน, หญ้าอ้อน้อย (เชียงใหม่) หญ้าใบไผ่ (ไทยตะวันออก) และ หญ้าหวาย, หญ้าขิง หญ้าคุรน ครับ.
หญ้าน้ำค้าง กับสรรพคุณยา
หญ้าน้ำค้าง
      ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบว่า หญ้าน้ำค้างมีสรรพคุณอย่างไร ซึ่งในตำรายาพื้นบ้านอีสาน ระบุว่า ทั้งต้นรวมรากตากแห้งแล้วนำไปดองเหล้า 40 ดีกรี จนเนื้อยาออก ดื่มเป็นยาแก้โรคท้องมาน ทั้งต้นแบบสดตำพอละเอียดทาแก้กลากเกลื้อนดีมาก ตำรายาไทยใช้ทั้งต้นแบบสด ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ ใบสด ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับระดูสตรี ขับพยาธิ และแก้ตับอักเสบได้ สมัยก่อนนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง
      หญ้าน้ำค้าง หรือ DROSERA INDICA LINN. อยู่ในวงศ์ DROSERACEAE เป็นไม้ล้มลุก ต้นสูง 5-25 ซม. ใบเป็นเส้นยาว สีเขียวอ่อน และใบอ่อนมักจะม้วนงอ ดอกสีม่วงแกมชมพู มีกลีบดอก 5 กลีบ ผลเมื่อแก่แตกได้ มีเมล็ดพบขึ้นตามที่ราบว่างเปล่าทั่วไป หรือตามลานหินซอกหินบนเขาที่มีดิน หรือใบไม้แห้งทับถมอยู่ มีชื่อเรียกอีกคือ มะไฟเดือนห้า (ทั่วไป) หมอกบ่วาย (อุบลฯ) และ หญ้ายองไฟ (ชลบุรี)
หอมแดง แก้หวัดคัดจมูก
หอมแดง
      สูตรดังกล่าว ให้เอา หอมแดงสด 3-5 หัว ปอกเปลือกออก พิมเสน 50 กรัม การบูร 50 กรัม นำหัว หอมแดงทุบพอแตกต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือดใส่พิมเสมกับการบูร ลงไปตอนที่ยังเดือดอยู่สักครู่ยกลง ใช้จมูกสูดเอาไอจากน้ำ โดยก้มหน้าลงไปใกล้ๆ พร้อมใช้ผ้าขนหนูคลุมศีรษะไว้ด้วย ไอระเหยจากน้ำจะเข้าจมูกได้เต็มที่ จะช่วยให้จมูกโล่งหายใจสะดวก อาการหวัดดีขึ้น และ ยังช่วยลดอาการบวมได้อีกด้วย สูตรนี้นิยมใช้กันมาแต่โบราณแล้วได้ผลดีระดับหนึ่ง
      หอมแดง เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศซีเรีย ต่อมาเริ่มมีปลูกในจีน อินเดีย จากนั้นได้แพร่หลายไปทั่วโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ ALLIUM ASCALONI-CUM LINN. อยู่ในวงศ์ ALLIACEAE มีคุณค่าทางอาหารเหมือนผักหลายๆชนิด ให้ แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส ที่เหมาะสมกับการดูดซึมของร่างกาย มี เบต้าแคโรทีน และยังมีสารจำพวก ฟลาโวนอยต์โดยเฉพาะ เควอซิทีนที่เป็นเกราะกัน มะเร็ง ให้กับคนเราได้ เหมือนกับที่พบใน ไวน์แดง นั่นเอง
       กลิ่นฉุน ของ หอมแดงมีสารจำพวก กำมะถัน เวลาเข้าตาทำให้รู้สึกแสบตา แสบจมูก ซึ่งถ้าเอา หอมแดงสดทุบดมสามารถทำให้จมูกหายใจโล่งดี นำหัว หอมแดงไปตำผสมกับเหล้าขาว 28 หรือ 40 ดีกรี เอาพอกบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย จะช่วยให้หายปวดและลดบวมได้

หอมแดง ต้านหวัดได้
      หาก ไม่เขียนถึงสมุนไพรที่มีสรรพคุณต้านหวัดในช่วงนี้ต้องถือว่าตกยุค ซึ่งผู้อ่านไทยรัฐจำนวนมากอยากทราบว่ามีสมุนไพรอะไรบ้างที่สามารถต้านหวัด โดยเฉพาะ "หวัด 2009" ที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้ได้ ซึ่งความจริงแล้วสมุนไพรที่มีสรรพคุณต้านเชื้อหวัดมีหลายชนิด นิยมใช้มาแต่โบราณ อยู่ที่ว่าใครจะเลือกใช้ชนิดใด ที่กำลังดังและฮือฮากันมากได้แก่ ฟ้าทลายโจร ทุกคนทราบวิธีกินวิธีใช้กันดีแล้ว นอกจากนั้น ยังมีพืชผักพื้นบ้านอีกหลายอย่างที่คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนกินเป็นอาหารประจำ ซึ่งนอกจากจะอร่อยแล้วยังมีสรรพคุณทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต้านหวัดได้ เช่น กระเทียม ขิง ใบกะเพรา หรือแม้กระทั่ง มะขามป้อม เคยแนะนำวิธีกินไปเมื่อไม่นานมานี้ กินแล้วต้านหวัดได้ดีเช่นกัน ที่สำคัญหาซื้อง่าย มีผู้ทำเป็นแบบชงนํ้าร้อนดื่มหอมอร่อยชื่นใจดี ดื่มประจำไม่มีอันตรายอะไร สามารถป้องกันเชื้อหวัดได้
      ใน ส่วนของ "หอมแดง" สามารถต้านเชื้อหวัดได้ เหมือนกัน นิยมใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์ เช่น เด็กเป็นหวัด หรือมีอาการคัดจมูกคล้ายจะเป็นหวัด โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว นิยมเรียกว่า "ไข้หัวลม" เอา "หอมแดง" กะจำนวนพอประมาณ ทุบพอแตกต้มกับนํ้าจนเดือดราดศีรษะเด็กขณะอุ่นหลังอาบนํ้าเสร็จ 2-3 ขัน เศษ "หอมแดง" ที่ต้มขยี้ศีรษะเช็ดผมให้สะอาด อาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดหัวลมจะหายได้ นิยมทำตอนเย็น หรือ หากผู้ใหญ่เป็นไข้หัวลม หรือเป็นหวัด เอา "หอมแดง" กะจำนวนตามต้องการทุบพอแตกต้มนํ้า เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะรมสูดเอาไอร้อนจากนํ้าที่ต้ม หายใจลึกๆ ทำวันละครั้งก่อนนอน อาการที่เป็นจะหายได้ ซึ่งสูตรดังกล่าวสามารถใช้ป้องกันเชื้อหวัดทุกชนิดได้ คนที่ยังไม่เป็นหวัดก็ทำได้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหวัดได้ดีมาก
      หอมแดง   หรือ ALLIUM ASCALONI-CUM LINN. อยู่ในวงศ์ ALLIACEAE มีขายตามตลาดสดทั่วไป มีคุณค่าทางอาหาร คือมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการดูดซึมของร่างกาย มีเบต้าแคโรทีน มีสารฟลาโวนอยด์ โดยเฉพาะเควอซิทีน เป็นเกราะกันมะเร็งให้กับคนได้ เหมือนกับพบในไวน์แดงราคาแพง มีสารอาหารมากกว่า 10 ชนิด กากใยอาหาร รับประทานหรือทำตามสูตรที่กล่าวข้างต้น ช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานเชื้อหวัดได้
      อย่างไรก็ตาม การป้องกันการติดเชื้อภายนอก ทุกคนควรปฏิบัติคือ กินอาหารให้ครบหมู่ กินอาหารสุกและร้อนๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหรือพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อยๆ และสวมหน้ากากปิดปากจมูกป้องกันเวลาเดินทางไปทำงานหรือออกนอกบ้านเสมอ เท่านี้เชื่อว่าจะรอดพ้นจากการติดเชื้อ "หวัด 2009"
ได้ครับ.
หงอนไก่  เมล็ดกระตุ้น ความรู้สึกทางเพศ
หงอนไก่
      หลายคน รู้จักและชื่นชอบปลูกต้น หงอนไก่เป็นไม้ประดับตามบ้าน สำนักงาน และตามสวนสาธารณะ โดยเฉพาะปลูกเป็นกลุ่มจำนวนหลายๆต้น เวลามีดอกจะดูสวยงามมาก ซึ่ง หงอนไก่จะมีหลากหลายสายพันธุ์และหลากหลายสีสัน มีต้นวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ มากมาย สุดแต่ว่าผู้ปลูกจะเลือกซื้อชนิดไหนไปปลูกประดับ
      หงอนไก่ นอกจากจะมีดอกสวยงามตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว บางส่วนของต้น หงอนไก่ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ โดยเฉพาะเมล็ดของต้น หงอนไก่ในตำรายาแผนไทยระบุว่า เป็นยาแก้ท้องร่วง ต้มน้ำกลั้วรักษาแผลในช่องปาก แก้โลหิตเป็นพิษได้แล้ว ยังระบุว่า เมล็ดใช้เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ดีมากอีกชนิดหนึ่ง แต่ในตำราไม่ได้ระบุวิธีใช้และวิธีกิน จึงไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร
      ใน ตำรายาแผนไทยยังบอกต่อว่า ราก ของต้น หงอนไก่ทุกสายพันธุ์ สามารถนำไปเป็นยาแก้ไข้ แก้หืด บำรุงธาตุได้ ดอก ใช้แก้บิด เลือดลมไม่ปกติ และใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ด้วย
      หงอนไก่ หรือ CELOSIA ARGENTEA LINN. ชื่อสามัญ CHINESE WOOL FLOWER, COCKCOMB  อยู่ในวงศ์  AMARANTHACEAE มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 เมตร ลำต้นเป็นสันเหลื่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอก หรือรูปแถบแคบ ปลายและโคนใบแหลม ใบมักมีสีแดงแต้มซอกใบมีใบเล็กๆเป็นรูปเคียว
      ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ซึ่งช่อดอกของ หงอนไก่จะมี 2 แบบ คือ เป็นรูปทรงกระบอก และทรงคล้ายหงอนไก่ บางครั้งพบ 2 แบบในต้นเดียวกัน มีด้วยกันหลายสี เช่น สีชมพูเงิน สีแดง สีม่วง สีเหลือง และ สีส้ม เป็นต้น ลักษณะดอกมีกลีบรวม 5 กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีเกสรตัวผู้ปลายแหลม 5 อัน ผลรูปไข่ค่อนข้างกลม เมล็ด เป็นสีดำ และเป็นมัน ซึ่ง เมล็ด มีสรรพคุณ กระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ ตามที่กล่าวข้างต้น ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเขตร้อน กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่วโลก ในประเทศไทยมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอีกคือ ดอกด้าย (ภาคเหนือ) หงอนไก่ดง, หงอนไก่ดอกกลม, หงอนไก่ไทย, หงอนไก่ฟ้า (ภาคกลาง) ด้ายสร้อย, สร้อยไก่ (เชียงใหม่) และ หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง) ครับ.
หัวอีอุ๊ก  ดอกสวยยาดีเด็ก
หัวอีอุ๊ก
         ไม้ต้นนี้ เพิ่งพบมีต้นวางขายกำลังมีดอกสีสันสวยงามมาก แต่ไม่มีป้ายชื่อเขียนติดไว้ ผู้ขายบอกว่าเป็นต้นโสมชบาใบเล็ก คนละต้นกับโสมชบาที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปนานแล้ว โดยโสมชบาใบเล็ก จะมีข้อแตกต่างคือ ใบจะเป็นรูปแถบแคบและยาว ส่วนใบของโสมชบาที่เคยแนะนำในคอลัมน์นั้น ใบจะเป็นรูปรีกว้างและใหญ่กว่าเยอะ จึงถูกเรียกว่า โสมชบาใบเล็ก ส่วนรูปทรงและสีสันของดอกจะเหมือนกัน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดเป็นประจำ และที่สำคัญโสมชบาใบเล็ก มีแหล่งที่พบอยู่ในแถบช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ขณะที่โสมชบาใบรี หรือโสมชบาที่เคยแนะนำในคอลัมน์มีแหล่งที่พบที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงไม่ใช่ต้นเดียวกันอย่างแน่นอน
        อย่างไรก็ตาม เมื่อนำลักษณะต้น ใบ และดอกไปค้นในสารบบพรรณไม้จึงทราบว่า โสมชบาใบเล็ก ที่ผู้ขายเรียกนั้น คือต้น หัวอีอุ๊กพบขึ้นบนเขาในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จริง โดยคนในพื้นที่เรียกว่า หัวอีอุ๊กหัวไก่โอก และ หญ้าขี้อ้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า DECASCHISTIA INTERMEDIA CRAIB อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นสูง 10-60 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปแถบแคบ กว้างประมาณ 0.3-1 ซม. ยาว 2.2-9 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลมถึงมน โคนใบเป็นรูปลิ่ม ผิวใบด้านล่างมีขนสีเขียวสด
        ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อที่ซอกใบใกล้ปลายยอด มีริ้วประดับกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะกลีบเป็นรูปไข่กลับเฉียง กว้างประมาณ 1-1.5 ซม. ยาวประมาณ 3 ซม. เป็นสีแดงสดใส มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นมัด ใจกลางดอกเป็นสีขาว ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดใหญ่คล้ายกับดอกชบาสวยงามมาก
        ผล รูปทรงกลม เมื่อแก่แตกกลางพูมีเมล็ดหลายเมล็ดเป็นรูปไต ดอกออกได้เรื่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปัจจุบันต้น หัวอีอุ๊กหรือที่ผู้ขายเรียกว่า โสมชบาใบเล็ก มีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 3 ติดกับ แผง เจ๊ติ๋มราคาสอบถามกันเอง สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ จัดอยู่ในกลุ่มไม้หายากชนิดหนึ่ง ปลูกลงกระถางหรือปลูกลงดินหลายๆต้น รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยเดือนละครั้ง เวลามีดอกจะสวยงามแปลกตาน่ารักมาก
       สรรพคุณทางยา ตำรายาพื้นบ้านอีสาน หัวสด หรือ แห้ง ต้มน้ำดื่มแก้โรคซางในเด็กได้ดีมากครับ.
หญ้าเจ้าชู้ แก้ไข้ทับระดู
หญ้าเจ้าชู้
      สมัยก่อน เวลาสตรีมีอาการไข้ทับระดู หรือ เกิดอาการไข้ขณะมีประจำเดือน จะอันตรายมาก อาจถึงชีวิตได้ ซึ่งหมอยาแผนไทยในยุคสมัยนั้นมีวิธีรักษาหรือแก้อาการไข้ทับระดูของสตรีได้  โดยให้เอา หญ้าเจ้าชู้แบบสดทั้งต้นรวมราก หรือแบบแห้งมัดเป็นกำประมาณ 1 กำมือใหญ่ๆ แล้วผูกเป็น 3 เปลาะ ใส่น้ำให้ท่วมยาต้มให้เดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จะช่วยให้อาการไข้ทับระดูหายได้
      นอกจาก จะช่วยแก้ไข้ทับระดูแล้ว หญ้าเจ้าชู้แบบสดกะจำนวนตามต้องการต้มกับน้ำจนเดือดแล้วดื่มแบบจิบต่างน้ำชาทั้งวัน ยังช่วยเป็นยาล้างไต ทำให้ไตดี ช่วยป้องกันการเป็นนิ่ว และ ขับนิ่วได้อีกด้วย สามารถต้มดื่มได้เรื่อยๆ ไม่มีอันตรายอะไร
      หญ้าเจ้าชู้ หรือ GOLD BEARD GRASS หรือ CHRYSOPOGON ACICURATUS (RETE) TRIN อยู่ในวงศ์ GARMINEAE เป็นไม้ล้มลุก มีหัวและเหง้าแผ่กระจายตามหน้าดิน ดอกเป็นช่อ รูปกลมเรียวคล้ายเมล็ดข้าว มีหนามแหลม สามารถปักติดเสื้อผ้า ผิวหนังได้ โดยเฉพาะติดผิวหนังจะรู้สึกเจ็บแสบและคันยิบๆ แกะออกจากเสื้อผ้ายากมาก จึงถูกเรียกชื่อว่า หญ้าเจ้าชู้มีชื่อเรียกอีกคือ หญ้าขี้เตรย และ หญ้าน้ำลึก ส่วนใครต้องการ หญ้าเจ้าชู้ไปใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้น ต้องเสาะหากันเอาเอง เพราะไม่มีวางขายที่ไหน
หมามุ่ย  สรรพคุณดี
หมามุ่ย
      ผม เคยเขียนถึงต้น "หมามุ่ย" ไปนานหลายปีแล้ว แต่ยังมีผู้อ่านไทยรัฐจำนวนมากที่เพิ่งจะสนใจเรื่องสมุนไพร อยากทราบว่าต้น "หมามุ่ย" นอกจากขนของผลหรือฝักปลิวถูกตัวทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรงแล้ว มีสรรพคุณทางสมุนไพรใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง และจะหาซื้อต้นได้จากที่ไหน
      เกี่ยวกับเรื่องนี้ จำได้ว่าสมัยเป็นเด็กบ้านนอก เวลาขึ้นเขาเข้าป่า จะพบต้น "หมามุ่ย" ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ผมเองไม่กล้าเข้าไปใกล้นัก เนื่องจากกลัวถูกขนจากผลหรือฝักปลิวถูกตัวทำให้เกิดอาการคัน และเป็นคนไม่ชอบต้น "หมามุ่ย" เอามากๆ
      อย่างไรก็ตาม หากเป็นคนพื้นบ้านที่เป็นแพทย์แผนไทย หรือเป็นชาวเขาเผ่าอีก้อ เขาจะไม่กลัวต้น "หมามุ่ย" เนื่องจากต้น "หมามุ่ย" มีสรรพคุณเป็นยาดี ใช้รักษาโรคได้หลายอย่าง เช่น ใบ ตำคั้นเอาน้ำทา หรือใช้กากพอกรักษาแผลที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกดีมาก เป็นต้น
      สารสกัด ทั้งต้น มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ ช่วยให้ผู้ที่มีตัวอสุจิน้อยมีโอกาสมีลูกได้มากขึ้น น้ำต้มทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการอักเสบของต่อมลูกหมากในคนได้ สาร L-DOPA ที่พบในรากและเมล็ด ใช้ในการรักษาโรค พาร์กินสัน มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลอง เอนไซม์ PHENOL OXI DASE ที่พบในต้น "หมามุ่ย" สามารถนำไปใช้เตรียมอนุพันธ์ของสาร PHENO-LIC STEROID ได้
      ตำรา ยาพื้นบ้านในปัจจุบันระบุว่า เมล็ด ของ "หมามุ่ย" นำไปคั่วพอสุกรับประทาน 2-3 เมล็ด ก่อนเข้านอนทุกวัน จะเป็นยาช่วยให้มีพลังทางเพศได้ ส่วนจะดีตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างหรือไม่ ต้องทดลองดู
      หมามุ่ย หรือ MUCUNA  PEU-RIENS  LINN.DC. FORMA  PEURIENS อยู่ในวงศ์ FABACEAE เป็นไม้ล้มลุกจำพวกต้นเป็นเถาเลื้อยขนาดใหญ่ พบขึ้นตามป่าทั่วไป ดอก ออกตามซอกใบเป็นช่อยาวห้อยลง มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นรูปดอกถั่วสีม่วงเข้ม "ผล" เป็นฝัก
      โค้งไปมา มีขนหลุดร่วงง่ายเป็นพิษ ถูกตัวหรือผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคันรุนแรง  1  ฝัก  มี  4-7  เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ไม่มีต้นขายที่ไหน มีปลูกเฉพาะตามสวนสมุนไพรเท่านั้น วิธีเก็บผล คนพื้นบ้านใช้ไฟเผา พอขนจากผลไหม้สามารถเก็บไปใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นได้ มีชื่อ เรียกอีกคือ บะเหยือง และ หมาเหยือง (ภาคเหนือ) ครับ.
หัวไช้เท้า แก้ริดสีดวงทวารได้
หัวไช้เท้า
      หัวไช้เท้า เป็นผักกินได้ชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปผสมกับน้ำผึ้งแท้แล้วใช้เป็นยาแก้ โรคริดสีดวงทวาร ได้ โดย ให้เอา "หัวไช้เท้า" สด 2 หัว ใหญ่หรือเล็กตามแต่จะหาได้ ล้างน้ำให้สะอาดตัดปลายทั้งสองข้างทิ้ง ไม่ต้องปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กตำหรือปั่นคั้นเอาน้ำ เติมน้ำผึ้งแท้ 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันดื่มก่อนนอนทุกคืน 1 แก้ว 3-4 วัน อาการที่เป็นและอักเสบจะดีขึ้น ถ้าเป็นมากๆต้องใช้เวลา 15 วัน เมื่อดีขึ้นหรือหายแล้วสามารถหยุดกินได้ แต่ต้องระวังอย่าให้มีอาการท้องผูกอย่างเด็ดขาด จะกลับมาเป็นอีก
      หัวไช้เท้า CHINESE RADISH มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ RAPHANUS SATIVUS LINN. อยู่ในวงศ์ BRASSCACEAE มีหัววางขายตามตลาดสดทั่วไป นิยมปรุงเป็นแกงจืดใส่กระดูกหมู ขูดเป็นฝอยๆ รับประทานกับผักชนิดอื่นเป็นสลัด อร่อยมากคุณค่าทางโภชนาการ มี วิตามินซี สูงกว่าผักหลายชนิด สูงกว่าแอปเปิ้ล สาลี่ ถึง 10 เท่า แต่ถ้า ปรุงด้วยความร้อน วิตามินซีจะหายหมด ดังนั้น เคี้ยวกินสดๆจะได้ประโยชน์ แบบเต็มๆ วิตามินซีที่ได้จาก "หัวไช้เท้า" ทำหน้าที่ป้องกันมะเร็ง และช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านโรคสูง ช่วยให้กระเพาะอาหาร สำไส้บีบตัวดี มีสารฆ่าเชื้อโรคบางอย่าง มีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ ชะล้างฝุ่น คนอียิปต์ สมัยโบราณเชื่อกันว่า กิน "หัวไช้เท้า" สด จะช่วยให้มีพลังทางเพศด้วย ส่วน ชาวเยอรมัน กิน "หัวไช้เท้า" สดแกล้มเบียร์จะช่วยไม่ให้เมาค้าง ร่างกายไม่ทรุดโทรม
หูเสือ แก้เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ
หูเสือ
      ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบว่ามีสมุนไพรอะไรบ้างที่ใช้รักษาอาการเจ็บคอและต่อมทอนซิลอักเสบ เนื่องจากมีอาการอยู่ประจำ โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนอากาศทำให้รู้สึกเจ็บในลำคอ และต่อมทอนซิลอักเสบเสมอ ซึ่งในทางสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการแก้เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบมีด้วยกันหลายชนิด เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว
      ส่วน "หูเสือ" เป็นอีกสูตรหนึ่งยังไม่เคยแนะนำในคอลัมน์มาก่อน นิยมใช้กันมาแต่โบราณ มีวิธี ง่ายๆคือ ให้เอาใบ "หูเสือ" แบบสด ขนาดเล็กหรือใหญ่ตามแต่จะหาได้ จำนวน 5 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดสับรวมกับเนื้อหมูไม่ติดมันกะจำนวนตามต้องการ ไม่ต้องปรุงรสหรือใส่อะไรลงไปอีก ปั้นเป็นก้อนต้มกับน้ำไม่ต้องมากนักจนเดือดหรือเนื้อสุกกินทั้งน้ำและเนื้อเช้าเย็น ทำกินประจำ 4-5 วัน อาการจะดีขึ้นและหายได้ หรือต้มกินจนกว่าจะหาย เมื่อหายแล้วหยุดกินได้ไม่มีอันตรายอะไร
      หูเสือ หรือ COLEUS AMBOINI-CUS LOUR อยู่ในวงศ์ LABIATEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี นิยมปลูกตาม บ้านมาแต่โบราณเพื่อเก็บเอาใบสดกินเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกชนิดต่างๆ และลาบ ก้อย ชาวบ้านทางภาคอีสานและภาคเหนือนิยมรับประทานกันมาก ขยายพันธุ์ง่ายๆ ปักชำต้นก็ขึ้นแล้ว มีชื่อเรียกอีกคือผักหูเสือ หูเสือไทย อีไหล หลึง หูเสือจีน โฮหิเช้า (จีน) หอมด่วนหลวง หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ) และ หูเสือ (ภาคอีสาน) ประโยชน์ทางสมุนไพร ใบ คั้นเอาน้ำหยอดแก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูเป็นน้ำหนวกดีมาก
หนาด  ใบป้องกันไข้หวัดหัวลม
หนาด
      ในช่วงเปลี่ยนฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวของทุกปี จะมีคนเป็นไข้หวัดหัวลมกันเยอะ เนื่องจากร่างกายปรับสภาพไม่ทันนั่นเอง ในทางสมุนไพรมีวิธีป้องกันไม่ให้ เป็นไข้หวัดหัวลมในช่วงดังกล่าวได้หลายสูตร และสูตรใบ "หนาด" ก็จัดในกลุ่มป้องกันไข้หวัดหัวลมด้วย โดยให้เอาใบสด หั่นเป็นฝอยตากแห้งอย่าให้มีราขึ้นหยิบชงกับน้ำร้อนดื่มบ่อยๆในแต่ละวัน มีรสหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย จะช่วยไม่ให้เป็นไข้หวัดหัวลมได้
      ใบ "หนาด" มีสาร CRYTOMERIDION กลั่นเป็นน้ำมันแล้วทำให้แห้งจะตกผลึกเป็น "พิมเสน" มีกลิ่นหอมเย็น ใบสดหั่นเป็นฝอยตากแดด พอหมาดผสมยาฉุนสูบ แก้ริดสีดวงจมูก ใบสดกินเป็นยาขับผายลม แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ใบแห้งบดผสมต้นข่อยแก่นก้ามปูพิมเสนการบูรมวนด้วยใบตองแห้งสูบ รักษาโรคหืดได้ รากต้มดื่มขับนิ่ว ขับปัสสาวะ และ แก้ไตพิการ
      หนาด มีหลายชนิด บางชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ ไม่เหมือนกัน แต่จะเป็นไม้ในวงศ์ เดียวกัน คือ COMPOSITAE ลักษณะต้น ใบ และดอกจะแตกต่างกันด้วย ส่วนใหญ่สรรพคุณใช้ในทางเดียวกัน คนจีนเรียกว่า เฉ่าฮวนเกี๊ย และ ตั้วโองเช้า ในสมัย โบราณมีความเชื่อกันว่า ใบ "หนาด" สามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้ ปัจจุบันทราบว่า มีผู้นำต้น "หนาด" ไปปลูกตามฮวงจุ้ยอย่างกว้างขวาง มีต้น ใบสด และ ใบแห้ง ขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ราคาสอบถามกันเอง

เห็ดตับเต่า ของดีฤดูฝน
เห็ดตับเต่า
      คนรุ่นเก่าที่   มีภูมิลำเนาอยู่ตามชนบท   เชื่อได้ว่าส่วนใหญ่จะรู้จักและเคยรับประทาน "เห็ดตับเต่า" อย่างแน่นอน ซึ่งเห็ดชนิดนี้จะมีขายและมีให้ซื้อรับประทานเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อเริ่มมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมา "เห็ดตับเต่า" ที่ทิ้งสปอร์ไว้ใต้ดินที่มีความชื้นเย็นสูง  เช่น  ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง โดยเฉพาะบริเวณใต้ต้นหว้า จะแทงดอกชูขึ้นเหนือดินให้คนที่มีอาชีพเก็บเห็ดเข้าไปเก็บนำไปขายในตลาดตัวเมืองได้รับความนิยมซื้อไปรับประทานอย่างกว้างขวาง ราคากิโลกรัมเกือบร้อยบาท เมื่อนำไปปรุงเป็นอาหารแล้วจะมีรสชาติอร่อยไม่แพ้ "เห็ดทรัฟเฟิล" ของฝรั่งเศสที่มีราคาแพงกิโลกรัมหลายหมื่นบาทแม้แต่น้อย และ "เห็ดตับเต่า" จะมีสีดำเหมือนกัน ที่สำคัญจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่นกัน จึงเป็นเห็ดปลอดสารพิษอย่างแน่นอน รับประทานแล้วได้คุณค่าทางอาหารอย่างเต็มเปี่ยม
      ในการปรุงเป็นอาหาร ส่วนใหญ่ นิยมใช้ทั้งดอกเห็ดทำเป็นแกงลาวใส่ยอดฟักทอง หน่อไม้สด ใส่ใบแมงลักเพิ่มกลิ่นหอมเป็นชูรสให้ชวนรับประทานยิ่งขึ้น สำหรับ เครื่องประกอบจะมีพริกขี้หนูสด หรือพริก ขี้หนูแห้ง หอมแดง ข่า ตะไคร้ อย่างละ 1 แว่น โขลกให้ละเอียดต้มกับน้ำจนเดือดแล้วผ่า "เห็ดตับเต่า" ครึ่งซีกล้างน้ำให้สะอาดใส่ลงหม้อ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ถ้าไม่กินปลาร้าใช้เกลือแทน น้ำตาลทรายเล็กน้อย โรยด้วยใบแมงลักตามที่กล่าวข้างต้น   ตัก รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ เนื้อเห็ดจะซับน้ำแกงกรุบอร่อยมาก  สามารถใส่เห็ดเผาะหรือเห็ดฟางลงไปทำเป็นแกงเห็ดรวมเพิ่มความอร่อยได้เต็มรูปแบบ
      ประโยชน์ทางยาของ "เห็ดตับเต่า" ระบุว่า รับประทานแล้วเป็นยาบำรุงร่างกาย  บำรุงกำลัง  กระจายโลหิต  ดับพิษร้อนภายในดีมาก
      เห็ดตับเต่า หรือ THAEOGYRO PORUS  PORENTOSUS (CBERK. ET BROOME) MC.NABB. อยู่ในวงศ์   BOLETACEAE   มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ หมวกเห็ดทรงกระทะคว่ำ ดอกอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ สีน้ำตาล เมื่อบานเต็มที่หมวกเว้าเล็ก น้อย ผิวเป็นสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง ดูคล้ายเป็นสีดำ ด้านล่างหมวกมีรูกลมเล็กๆ สีเหลืองเนื้อในเห็ดเมื่อผ่าถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมเขียว ก้านหมวกอวบใหญ่ ยาว 4-8 ซม. เส้น ผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม. โคนก้านหมวกโป่งเป็นกระเปาะสปอร์ ค่อน ข้างกลม   ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์   มีชื่อเรียกอีกคือ เห็ดห้า (ภาคเหนือ) เพราะจะขึ้นบริเวณใต้ต้นหว้า ซึ่งชาวเหนือเรียกต้นหว้าว่า ต้นห้า "เห็ดตับเต่า" มีขายเฉพาะฤดูตามแหล่งขายพืชผักพื้นบ้านทั่วไปครับ.
หนอนตายหยาก แก้ภูมิแพ้แก้ฟันผุ
หนอนตายหยาก
      ผู้อ่าน ที่เพิ่งจะเป็นสมาชิกไทยรัฐและพลาดโอกาสอ่านสรรพคุณของ "หนอนตายหยาก" ขอให้ เสนออีกครั้ง โดยเฉพาะสูตรแก้ภูมิแพ้ มีวิธีทำอย่างไร ซึ่งสูตรดังกล่าวมีวิธีง่ายๆคือ ให้เอา ราก ของ "หนอนตายหยาก" สดหรือแห้งก็ได้ กับ ใบ ของต้น หนุมาน-ประสานกาย สดหรือแห้งก็ได้เช่นกัน จำนวนเท่ากันคือ 10 กรัม ต้มน้ำเดือดดื่มขณะยังอุ่นต่างน้ำทุกวันจนกว่าตัวยาจะจืดแล้วเปลี่ยนใหม่ จะช่วยแก้อาการของโรคภูมิแพ้ ละลายเสมหะ ลดอาการไอได้ นอกจากนั้น ราก ของ "หนอนตายหยาก" ยังสามารถนำไปทำเป็นยาฆ่าเหา เห็บ หมัด หนอน ได้ ยิ่งโรครำมะนาดแมงกินฟันจนทำให้เกิดอาการปวดบวม ใช้รากสดๆ อุดเข้าไปบริเวณรูฟันที่ถูกแมงเจาะจะตายและหายปวดบวมดีมาก
      หนอนตายหยาก หรือ STEMONA TUBERO-SALOUR อยู่ในวงศ์ STEMONACEAE มีรากและต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 3 แผง "เจ๊ติ๋ม" กับโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ราคาสอบถามกันเอง ส่วนหนุมานประสานกาย  ที่ต้องใช้ใบคู่กัน  มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า   SCHEFFERA  LEUCANTHAVIG   อยู่ในวงศ์ ARALIACEAE มีต้นขายที่เดียวกัน
หญ้าใต้ใบ  แก้ตับติดเชื้อ
หญ้าใต้ใบ
      ในยุคสมัยก่อนคนเป็นตับติดเชื้อกันมาก หากเป็นอาการที่เริ่มต้นยังไม่ถึงขั้นรุนแรงหรือลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งในตับ เรียกว่าเพิ่งจะเป็นใหม่ๆเล็กน้อย ในทางสมุนไพรพอมีทางรักษาได้
      โดย ในยุคสมัยนั้นหมอยาพื้นบ้านแนะนำให้เอา "หญ้าใต้ใบ" จำนวน 3 ต้น หรือหากต้นเล็กก็ใช้ 5 ต้น รวมทั้งรากล้างน้ำให้สะอาด สมัยก่อนตำให้ละเอียดผสมน้ำประมาณ 1 แก้ว ปัจจุบันใช้เครื่องปั่นใส่น้ำลงไปตามที่ระบุข้างต้น จากนั้นเอาผ้าขาวบางกรองบีบหรือคั้นเอาเฉพาะน้ำดื่มครั้งละครึ่งแก้ว 2 เวลาต่อวัน เช้า-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ทำดื่มติดต่อกัน 3 วัน แล้วเว้น 3 วัน ทำดื่มใหม่ ประมาณ 3-4 ครั้ง อาการตับติดเชื้อจะดีขึ้น สามารถทำดื่มได้อีกจนกระทั่งสังเกตว่าหายดีแล้วจึงหยุด สมัยก่อนหมอยาแผนไทยนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง เพราะได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ต้องเป็นอาการตับติดเชื้อเริ่มต้นเท่านั้น 

      หญ้าใต้ใบ หรือ PHYLLANTHUS URI-NARIH LINN. อยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE พบขึ้นตามที่รกร้างข้างทางทั่วไป ลักษณะใกล้เคียงกับต้น ลูกใต้ใบ มาก มีชื่อ เรียกอีกคือ ไฟเดือนห้า, มะขามป้อมดิน และ หมากไข่หลัง มีสรรพคุณเช่นเดียวกับลูกใต้ใบ คือ ใบแห้งบดเป็นผงแทรกพิมเสน กวาดคอเด็กเพื่อลดไข้ และรักษาแผลในปาก ภายนอกใช้พอกฝีบรรเทาอาการบวมและคัน มีรายงานว่า ยาชงทั้งต้นมีฤทธิ์ขับปัสสาวะและลดไข้ในสัตว์ทดลอง
หญ้าใต้ใบ แก้มือเท้าเย็น
หญ้าใต้ใบ
      โรคมือเท้าเย็น มีคนเป็นกันเยอะ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกิดอาการแบบตลอดเวลา อยู่ๆก็เป็นขึ้นมาอย่างกะทันหันไม่จำกัดเวลาไหนและเป็นช่วงๆ ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงก็หายไป หยุดๆเป็นๆ เหมือนจะไม่ อันตรายอะไร แต่ปล่อยไว้ไม่ดีต่อร่างกายแน่นอน ซึ่งใน ปัจจุบัน อาการดังกล่าวไปพบแพทย์วัดความดันและ เจาะเลือดวัดค่าของเลือดสามารถรู้สาเหตุพร้อมรับยาไปรับประทานและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อาการมือเท้า เย็นหายได้
      ในยุคสมัยโบราณ ชาวบ้านอยู่ห่างไกลตัวเมือง เมื่อเป็นโรคมือเท้าเย็นเดินทางไปพบหมอหรือแพทย์ตามสุขศาลาลำบาก ส่วนใหญ่จึงนิยมไปพบแพทย์แผนไทยหรือหมอกลางบ้านใกล้ตัวให้เจียดยารักษาให้หายได้ โดย เอาต้น "หญ้าใต้ใบ" ไม่รวมรากแบบสดๆ กะจำนวนพอประมาณตำ แล้วใช้ผ้าขาวบางห่อคั้นเอาเฉพาะน้ำรับประทานก่อนนอน 1 ช้อนโต๊ะ โดยกินแบบวันเว้นวัน 3 วัน แล้วหยุดรับประทานอย่างน้อย 3 วันจึงรับประทานต่อ ปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยๆเป็นเวลาหนึ่งเดือน อาการของโรคมือเท้าเย็นจะดีขึ้นและหายได้ หยุดใช้ยานี้ทันที หากสังเกตอาการไม่ดีขึ้นแสดงว่าไม่ถูกทางยาต้องเลิกรับประทานยานี้ทันทีเช่นกัน
      อย่างไรก็ตาม ในตำรายาแผนไทยยังระบุอีกว่า การนำเอาต้น "หญ้าใต้ใบ" ไม่รวมรากแบบสดๆ ตำและคั้นเอาเฉพาะน้ำกินตามอัตราส่วนที่กล่าวข้างต้นแล้ว นอกจากจะช่วยรักษาอาการของโรคมือเท้าเย็นได้ ยังมีผลช่วยแก้อาการตับอักเสบ และ แก้ไข้ได้อีกด้วย ในยุคสมัยก่อนหมอยาแผนไทยนิยมใช้ รักษาอย่างกว้างขวาง
       หญ้าใต้ใบ หรือ PHYLIANTHUS URINARIA อยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เป็นไม้ล้มลุก มีลูกกลมๆติดเป็นราวตามก้านใบ เรียงจากโคนใบไปจนถึงปลายยอด มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีต้นเป็นสีแดงทั้งต้น และต้นเป็นสีเขียว พบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ทางภาคเหนือหมอยาแผนไทยนิยมใช้ชนิดต้นเป็นสีแดงอย่างแพร่หลาย มีชื่อเรียกอีกคือ หญ้าลูกใต้ใบ มะขามป้อมดิน และ จูเกี๋ยเช้า (จีนแต้จิ๋ว)
       มีสรรพคุณเฉพาะ ทั้งต้นรสขมจัด ต้มน้ำดื่มแก้พิษไข้ทุกชนิด รวมทั้งไข้มาลาเรีย หรือสมัยก่อนชอบเรียกว่าไข้จับสั่น เป็นยาระงับความร้อน แก้พิษตานซางของเด็ด แก้น้ำดีพิการ นอนหลับๆตื่นๆ สะดุ้งผวา เป็นยากระตุ้นเตือนไตและกระเพาะปัสสาวะให้ทำงาน แก้ขัดเบา แก้กามโรค แก้ดีซ่าน แก้โรคท้องมาน แก้ปวดท้อง แก้ไอ เป็นยาขับระดูสตรี ภายนอกต้นสดๆ ตำผสมเหล้าขาว 40
ดีกรี เอาน้ำทา กากพอกแก้ปวดฝี ฟกบวม นิยมใช้มาแต่โบราณทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีนครับ.
หัวปลีกล้วยนํ้าว้า แก้เบาหวาน
หัวปลีกล้วยนํ้าว้า
      หัวปลีกล้วยนํ้าว้า กับสูตรแก้โรคเบาหวาน มีวิธีทำรับประทานเองแบบง่ายๆ คือให้เอา "หัวปลีกล้วยนํ้าว้า" เท่านั้น หัวปลีจากกล้วยชนิดอื่นใช้ไม่ได้ จำนวน 1 หัว ย่างไฟให้เปลือกชั้นนอกไหม้เกรียมแล้วต้มกับนํ้า กะจำนวนพอเหมาะจนเดือดดื่มต่างนํ้าทั้งวันให้หมดหม้อวันละ 1 หัว จนครบ 7 วัน หากคนที่เป็นเบาหวานดื่มแล้วถูกทางยาดื่ม 1-2 วันแรกจะมีอาการรู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกายแทบทนไม่ไหวแสดงว่ายานี้ได้ผลต้มดื่มจนครบ 7 วัน ตามที่บอกข้างต้น โรคเบาหวานจะดีขึ้นและหายได้ สามารถต้มดื่มได้เรื่อยๆ แต่ไม่ จำเป็นต้องทุกวันเหมือนครั้งแรก
      แต่ หากใครที่เป็นเบาหวานต้มดื่ม 3 วัน ไม่มี อาการตามที่กล่าวข้างต้นแสดงว่าไม่ได้ผล ไม่ถูกทางยาใช้สูตรนี้ไม่ได้ เลิกต้มดื่มได้เลย สูตรนี้เป็นสูตรโบราณ "นายเกษตร" แนะนำเป็นวิทยาทาน ใครเป็นเบาหวานทดลองดูไม่มีอันตรายอะไร
       กล้วยนํ้าว้า หรือ MUSA SAPIENTUM LINN. อยู่ในวงศ์ MUSACEAE มีสรรพคุณทางยา ยาง สมานแผลห้ามเลือด ผลดิบแก้ท้องเสีย ผลสุก เป็นยาระบาย หัวปลี แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง ลดนํ้าตาลในเส้นเลือด
สมอพิเภก คนรู้จักน้อย
สมอพิเภก
      ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบว่า "ผล" ของ "สมอพิเภก" มีลักษณะเป็นแบบไหน และหาซื้อต้นได้จากแหล่งไหน เนื่องจากไปซื้อที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แล้วไม่มี ต้องการต้นไปปลูกเพื่อทำยาสมุนไพร พร้อมขอให้ลงภาพ "ผล" ของ "สมอพิเภก" ประกอบให้ดูด้วย เพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน
      สมอพิเภก หรือ BELERIC MYROBALAN TERMINALIABELERICA ROXB. อยู่ในวงศ์ COMBRETACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 25-50 เมตร แตกกิ่งก้านขนานกับพื้นดิน เป็นพุ่มกว้าง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนมน เวลาใบดกสร้างความร่มรื่นดีมาก
      ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เป็นสีเหลืองสดใส "ผล" รูปค่อนข้างกลม เป็นผลสด มีสัน 5 สัน เนื้อผลรสฝาดปนเปรี้ยว มีเมล็ด 1 เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง พบขึ้นตามป่าดิบทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกอีกคือ ลัน, สมอแทน, แทน, แทนขาว, แทนต้น มี ต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ราคาสอบถามกันเอง สรรพคุณทางยา ผลดิบเป็นยาระบาย ผลสุกมีฤทธิ์ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย ซึ่ง "ผล" ของ "สมอ พิเภก" เป็น 1 ใน 3 เข้าตำรับยา "ตรีผลา" ผสมกับผล สมอไทย และ ผลมะขามป้อม รับประทาน ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดไตรกลีเซอไรด์ หากรับประทานเรื่อยๆ หรือบ่อยๆ สามารถสร้างภูมิต้านทานหวัดได้ด้วย

อ้อยแดงแอฟริกา แก้เบาหวาน
อ้อยแดงแอฟริกา
      อ้อยแดงชนิดนี้ เพิ่งจะพบมีต้นวางขาย โดยทีแรกที่เห็นนึกว่าเป็นต้นอ้อยแดงไทยที่นิยมปลูกและใช้เป็นสมุนไพรทั่วไป แต่ผู้ขายบอกว่าเป็น อ้อยแดงแอฟริกามีถิ่นกำเนิดจากประเทศแอฟริกา ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยบ้านเรานานกว่า 2-3 ปีแล้ว มีลักษณะเหมือน กับอ้อยแดงของไทยทุกอย่างรวมทั้งรสชาติขมปนเฝื่อนด้วย จึงเชื่อว่าเป็นอ้อยแดงพันธุ์เดียวกัน  เพียงแต่มีแหล่งกำเนิดต่างกันเท่านั้น
      ผู้ขายบอกต่อว่า ในประเทศแอฟริกา นิยมปลูกอ้อยแดงชนิดนี้ไว้เป็นยาสมุนไพร โดยใช้ต้น อ้อยแดงแอฟริกา” 2-3 ข้อปล้องล้างน้ำให้สะอาดทุบพอแตกต้มกับน้ำให้ท่วมท่อนอ้อยจนเดือดดื่มครั้งละ 1 แก้ว 3 หรือ 4 เวลาในหนึ่งวัน เป็นยาช่วยลดเบาหวาน
      อ้อยแดงแอฟริกา อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE เป็นไม้ล้มลุกเหมือนกับอ้อยแดงไทย ต้นสูง 2-5 เมตร ข้อปล้องยาวประมาณ 1 คืบมือผู้ใหญ่ ลำต้นหรือข้อปล้องกลมเล็กไม่อวบอ้วนเหมือนอ้อยควั่นทั่วไป ลำต้นหรือข้อปล้องอ้วนเต็มที่ประมาณนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่
      ลำต้น หรือข้อปล้องเป็นสีม่วงแดง มีไขสีขาวปกคลุมเหมือนกับอ้อยแดงไทยทุกอย่างซึ่ง อ้อยแดงแอฟริกาสามารถแตกต้นใหม่ขึ้นจากตาที่บริเวณข้อปล้องได้ถ้าต้นแก่จัดตามภาพประกอบคอลัมน์ สามารถตัดเอาต้นใหม่ดังกล่าวไปปลูกหรือขยายพันธุ์ได้เลย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ผิวใบสากมือ เป็นสีแดงอมน้ำตาลปนเขียว
      ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาว ผลเป็นผลแห้งขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ด้วยต้น ปัจจุบัน อ้อยแดงแอฟริกามีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 2 แผง ป้าแอ๊ดคุณขวัญราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป ทนแล้งได้เก่ง เหมาะจะปลูกไว้ใช้เป็นสมุนไพรตามที่กล่าวข้างต้นครับ.
อ้อยแดง พันธุ์แท้หายาก
      อ้อยแดง ที่เป็นพันธุ์แท้ๆและปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียวนั้นหายากมาก ส่วนใหญ่จะมีปลูกเฉพาะตามสวนสมุนไพรไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยสรรพคุณของ อ้อยแดงลำต้นนิยมใช้เป็นยาขับปัสสาวะโดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หรือแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้นต้มกับน้ำ กะด้วยสายตาจนเดือด แบ่งดื่มขณะอุ่นวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร แก้ไตพิการ โรคหนองใน และขับนิ่ว หมอยาพื้นบ้านใช้ลำต้นต้มน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ ซึ่งมีรายงานว่า อ้อยแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะในสัตว์ทดลองด้วย
อ้อยแดง
      ตำรายาโบราณ กล่าวว่า น้ำคั้นจากต้น อ้อยแดงแบบสดๆหรือจากลำต้นที่นำไปเผาไฟก่อนคั้นเพื่อทำให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น มีรสหวานปนขม รับประทาน แก้เสมหะ แก้หืดไอดีมาก แก้ไข้สัมปะชวน ทั้งต้นไม่ต้องปอกเปลือกทิ้ง ควั่นเป็นแว่นๆ ตากแห้งต้มน้ำดื่มแก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว แก้ขัดเบา แก้ช้ำรั่ว ตาของ อ้อยแดงมีรสขมมากกว่าเปลือก นำไปปรุงเป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษตานซางของเด็กดีมาก บำรุงธาตุน้ำ ทำให้เกิดกำลัง ทำให้เกิดน้ำมูตร
      อ้อยแดง หรือ SUGAR–CANE, SACCHARUM OFFICINARUM LINN. อยู่ในวงศ์  GRAMINEAE เป็นไม้ล้มลุก สูง 2-5 เมตร ข้อปล้องยาวประมาณ 1 คืบมือผู้ใหญ่ ลำต้นไม่อ้วนนัก ลำต้นเป็นสีม่วงแดง มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีขาว ผลเป็นผลแห้ง มีขนาดเล็ก ซึ่งอ้อยมีหลายสายพันธุ์ จะมีข้อแตกต่างกันที่ความสูงของต้น ความยาวของข้อปล้อง และสีของลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำต้น มีชื่อเรียกอีกคือ อ้อยขม, อ้อยดำ และ อ้อย
      ปัจจุบัน อ้อยแดงมีต้นและกิ่งพันธุ์ขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง คุณพร้อมพันธุ์ราคาสอบถามกันเองครับ.
ออลสไปซ์ ผลใบเป็นเครื่องเทศ
ออลสไปซ์
      ไม้ต้นนี้มีถิ่น กำเนิดจากจาเมกา เม็กซิโกตอนใต้ อเมริกากลาง และประเทศในแถบแคริบเบียน นิยมปลูกกันอย่างกว้างขวางเพื่อเก็บเอาผลและใบซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว คือมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นอบเชย กลิ่นลูกจันทน์ และกลิ่นของกานพลูรวมกัน โดยประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา นิยมนำเอาไปเป็นเครื่องเทศ ใช้ประกอบอาหารได้ทั้งประเภทคาวและหวาน ซึ่งผลแห้งหรือใบแห้งเอาไปบดเป็นผงใส่ในสตูเนื้อ สตูแพะ หรือแกะ หมักทำปูอบ ปูนึ่ง ไก่อบสมุนไพร คลุกกับกุ้งย่างเนย เพิ่มกลิ่นหอมชวนให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น
       สำหรับ อาหารหวานนิยมนำผง ออลสไปซ์ใส่ในฟรุตเค้ก คริสต์มาสพุดดิ้ง และอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ของหวานเหล่านั้นมีกลิ่นหอมรับประทานอร่อยมาก ในประเทศไทยมี ออลสไปซ์นำเข้าแบบแห้งบดละเอียดเป็นผงบรรจุถุงพลาสติกวางขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป ส่วนใหญ่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และห้องอาหารตามโรงแรมใหญ่ๆ ซื้อไปใช้ปรุงเป็นอาหารประจำ
       ส่วนต้น ออลสไปซ์เพิ่งพบมีวางขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงใกล้ๆกับประตูเข้าออกด้านประตูที่ 3 มีเพียง 3 ต้น สูงประมาณ 1 ฟุตเศษ ปลูกในกระถางดำขนาดเล็ก แตกใบสีเขียวสด มีป้ายเขียนชื่อติดไว้ว่า ออล-สไปซ์เมื่อเด็ดใบขยี้ดมจะได้กลิ่นหอมเฉพาะตัวตามที่กล่าวข้างต้น ผู้ขายบอกราคาว่าต้นละ 250 บาท ปรากฏว่ามีคนซื้อหมดในเวลาไม่กี่นาที
      ออลสไปซ์ หรือ PIMENTA DIOICA (L.) MERR. อยู่ในวงศ์ MYRTACEAE เป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม เนื้อใบค่อนข้างหนามีน้ำมันหอมระเหยทั้งใบ เมื่อเด็ดขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นอบเชย กลิ่นลูกจันทน์ และกลิ่นกานพลูรวมกันในใบเดียว ใบดกและหนาแน่นมาก
      ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยสีนวลขนาดเล็กจำนวนมาก ผลรูปทรงกลมคล้ายผลของพริกไทย แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าเป็น 2 เท่า มีรสเผ็ดร้อนคล้ายผลพริกไทย แต่จะมีกลิ่นหอมแบบเดียวกับกลิ่นของใบทุกอย่าง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
      ประโยชน์ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น น้ำมันสกัดจากผลและใบของ ออลสไปซ์ทำเป็นยาทาถูนวดแก้ปวดกล้ามเนื้อ และ แก้อาการปวดตามข้อได้ดีมากครับ.
อินทนิลน้ำ ไม่ใช่ตะแบก
อินทนิล​น้ำ
      อินทนิลน้ำ เป็นไม้ยืนต้น มีดอกสีสันงดงาม นิยมปลูกประดับและใช้ประโยชน์ทางยามาช้านานแต่โบราณแล้ว แต่เนื่องจากลักษณะต้น ดอก และใบ จะคล้ายกันมากกับต้นตะแบกที่นิยมปลูกประดับตามริมถนนเป็นแถวยาวทั้งในพื้นที่ กทม.หลายสาย และในต่างจังหวัด ทำให้ผู้พบเห็นหรือคนทั่วไปแยกไม่ออกว่าต้นไหนเป็น อินทนิลน้ำหรือเป็นต้นตะแบก จึงขอให้ชี้จุดแตกต่างระหว่างต้น อินทนิลน้ำกับต้นตะแบกบ้าง
      เกี่ยวกับเรื่องนี้ พอจะมีข้อเปรียบเทียบได้เพียงจุดเดียว คือ ให้ดูที่ผิวเปลือกลำต้น ถ้าหากเป็นต้นตะแบก ผิวเปลือกต้นจะเกลี้ยงเกลาคล้ายกับผิวเปลือกต้นฝรั่ง ส่วนอินทนิลน้ำผิวเปลือกต้นจะมีรอยด่างดำปนขาวและมีตะกระขรุขระต่างกันอย่างชัดเจน นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นดอก ใบ หรือผล เหมือนกันหมด ที่พบเห็นปลูกประดับตามริมถนนเป็นแถวยาวนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นต้นตะแบก
      อินทนิลน้ำ หรือ LAGERSTROEMIA   SPE-CIOSA   PERS  อยู่ในวงศ์  LYTHRACEAE ชื่อสามัญ QUEEN’S    FLOWER,    QUEEN’S    CRAFE   MYRTLE,   PRIPE   OF   INDIA เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-25 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย เป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายแหลมเป็นติ่ง โคนมน สีเขียวสด เวลาใบดกให้ร่มเงาดีมาก
      ดอกเป็นสีม่วง ม่วงปนชมพู หรือ สีชมพู ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7.5 ซม. กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย มีสันตามยาวชัดเจน และมีขนสั้นประปราย กลีบดอกบาง ขอบกลีบย้วย มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เวลามีดอกจะทิ้งใบ ทำให้เหลือแต่ดอกสีสันสวยงามมาก ผลเกือบกลม ผิวเกลี้ยง ผลแห้งแตกตามยาว 6 พู เมล็ด มีปีกจำนวนมาก ดอก ออกช่วงระหว่างเดือน
มีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียก ในประเทศไทยอีกคือ อินทะนิน, ฉ่องหมู, ฉ่วงมู (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี) บาเอ (มลายู-ปัตตานี) บางอบะซา (มลายู-นราธิวาส) และ อินทนิลน้ำ (ไทยภาคกลาง) มีต้นขนาดใหญ่ขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงปากทางเข้าประตู 2 ราคาสอบถามกันเอง
      ประโยชน์ทางสมุนไพร ใบแก่ กะจำนวนพอประมาณต้มน้ำดื่มแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะพิการ แก้เบาหวาน และลดความดัน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผู้ป่วยเบาหวานระบุว่าใช้ได้ผล แต่การทดลองในสัตว์พบว่าไม่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดครับ.
อินทนิลบก ดอกสีสันงดงาม
อินทนิลบก
      คนส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิดคิดว่าต้น "อินทนิลบก" เป็นไม้เกิดในป่าไทย ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย ต้น "อินทนิลบก" มีนิเวศวิทยาหรือถิ่นกำเนิดจากประเทศ อินเดีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย ในยุคสมัยก่อนนิยมปลูกกันแพร่หลายตามบ้านและสำนักงาน เนื่องจาก "อินทนิลบก" เวลามีดอกจะทิ้งใบหมด เหลือเพียงดอกบานสะพรั่งทั้งต้นงดงามมาก ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นนัก เป็นเพราะเสื่อมความนิยมลงไปตามกาลเวลา
      อินทนิลบก หรือ LAGERSTROEMIA MACROCARPA WALL. อยู่ในวงศ์ LYTHRACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ผลัดใบ ต้นสูง 8-10 เมตร เรือนยอดเป็นรูปทรงกลมยาว ปลายกิ่งชูขึ้น เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างเรียบ ลำต้นมีปุ่มปม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่กลับ หรือรูปรีป้อม กว้างประมาณ 12-17 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายใบมน โคนสอบแหลม หรือมน สีเขียวเข้มเป็นมัน
      ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 6 แฉก กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปกลม ผิวกลีบบางและย่น ขอบย้วย โคนกลีบดอกเรียว เป็นสีม่วง เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-12 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะทิ้งใบหมดเหลือเพียงดอกอย่างเดียว ทำให้ดูสวยงามยิ่งนัก
      ผล รูปรี เปลือกผลแข็ง เมื่อผลแก่แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ด้านหนึ่งของเมล็ดมีปีกสีขาวคล้ายปุยนุ่นติดอยู่ ดอกออกช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
      ประโยชน์ทางสมุนไพรไม่มี แต่ "อินทนิลบก" เนื้อไม้แข็งแรงทนทาน จึงนิยมนำไปใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน และเครื่องมือทางการเกษตร มีชื่อ เรียกในประเทศไทยตามท้องถิ่นต่างๆ อีก คือ กากะเลา (อุบลราชธานี) กาเสลา, กาเสา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ้อล่อ, จะล่อ, จะล่องกวาง (ภาคเหนือ)
      ปัจจุบันต้น "อินทนิลบก" มีต้นขนาดใหญ่ขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการติดปากทางเข้าประตู 2 หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปในหมู่คนขายต้นไม้ว่า บริเวณขายไม้ปราจีนบุรี ไม่มีต้นขนาดเล็กขาย ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ทนแล้งได้ดี เหมาะจะปลูกประดับชมความสวยงามจากสีสันของดอกเมื่อถึงฤดูกาลจะทำให้รู้สึกสดชื่นเป็นอย่างยิ่งครับ.
อบเชยต้น กับสรรพคุณทางยา
อบเชยต้น
      อบเชยต้น ที่เป็นสายพันธุ์ไทยพบมากที่สุดทางภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นมีประปราย ซึ่ง "อบเชยต้น" ของไทยเปลือกต้นจะมีความหนาและแข็งกว่าอบเชยต้นที่นำเข้าจากญวน, อินเดีย และจีนมาก แต่สรรพคุณทางยาจะใช้เหมือนกันหมด โดย เปลือกต้น ต้มนํ้าดื่มเป็นยาแก้โรคหนองใน แก้นํ้าคาวปลาเป็นพิษในสตรี ปัจจุบันตำรายาบางพื้นที่ระบุว่า เปลือกต้นตากแห้งแล้วบดเป็นผงบรรจุแคปซูลกินวันละ 1 แคปซูล เวลาไหนก็ได้ เป็นยาช่วยลดนํ้าตาลในเลือด หรือลดเบาหวานได้ จึงรีบแนะนำในคอลัมน์ทันที
      นอกจากนี้ ใบ ของ "อบเชยต้น" ยังใช้เป็นยาหอมบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้จุกแน่นลงท้อง เปลือกต้น ปรุงเป็นยานัตถุ์แก้ปวดศีรษะ บำรุงกำลัง แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต รากกับใบต้มรวมกันดื่มแก้ไข้เนื่องจากการอักเสบของสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆได้ด้วย
      อบเชยต้น หรือ CINNAMOMUM TAMMALA SP. อยู่ในวงศ์ LAURACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 4-10 เมตร เปลือกต้นและใบมีกลิ่นหอม ใบออกตรงกันข้าม ใบอ่อนสีแดง มีเส้นใบหลัก 3 ใบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน "ผล" รูปทรงกลม มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ราคาสอบถามกันเอง
อ้อยแดง  หายากสรรพคุณดี
อ้อยแดง
        ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากขอให้แนะนำแหล่งขายต้นพันธุ์ "อ้อยแดง" ว่ามีขายที่ไหนบ้าง จะได้ซื้อไปปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร ซึ่งผมเคยเขียน ในคอลัมน์ไปนานแล้ว ตั้งแต่ปี 42 โดยในช่วงนั้นมีผู้นำต้น "อ้อยแดง" ออกวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอก ไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" และจากตอนนั้นถึง ตอนนี้ไม่พบเลยว่ามีต้น "อ้อยแดง" วางขายอีก ต้น "อ้อยแดง" จึงกลายเป็นไม้หายากไปโดยปริยาย
       อ้อยแดง หรือ SUGARCANE, SACCHARUM OFFICINARUM LINN. อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE เป็นอ้อยที่นิยมปลูกกันตามหัวไร่ปลายนามาแต่โบราณแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ทางยาเท่านั้น เนื่องจากเปลือกต้นของ "อ้อยแดง" มีรสขม และ น้ำที่ได้ก็ไม่หวานแหลมนัก หากปลูกเพื่อปอกเปลือกแล้วควั่นเป็นข้อขายไม่มีคนซื้อรับประทานอย่างแน่นอน ลำต้นสูง 2-5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีม่วงแดงจนเกือบดำ มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรียาว ปลายแหลม โคนเรียว และเป็นกาบหุ้มลำต้น ผิวใบจะเป็นสีม่วงอ่อนปนสีม่วงเทา ดูแปลกตามาก
       ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีขาว "ผล" ขนาดเล็ก มักเป็นผลแห้ง ไม่แตกอ้า ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำต้น มีชื่อเรียกอีก คือ อ้อยขม และ อ้อยดำ ชาวจีนนิยมใช้ "อ้อยแดง" ทั้งต้นผูกติดหน้ารถยนต์ที่จะนำตัวเจ้าสาวไปส่งให้บ้านเจ้าบ่าว ถือว่าเป็นมงคลกับคู่แต่งงานเป็นยิ่งนัก ซึ่งอ้อยมีหลายสายพันธุ์ จะมีความแตกต่างกันที่ความสูงของต้น ความยาวระหว่างข้อ และสีของลำต้น แต่ละพันธุ์ยังมีรสชาติต่างกันอีกด้วย
ประโยชน์ทางยา ตำรายาไทย ใช้
      ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หรือลำต้นแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กต้มกับน้ำจนเดือด แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร แก้ไตพิการ หนองใน ขับนิ่ว และยังใช้ขับเสมหะได้ด้วย ตำรายาโบราณบอกว่า เอาทั้งต้นของ "อ้อยแดง" แบบสด หรือเผาไฟนำไปหีบหรือคั้นเอาเฉพาะน้ำ ซึ่งมีรสหวานขม มีกลิ่นหอมเมื่อถูกเผา กินเป็นยา แก้เสมหะ หืด ไอ แก้ไข้สัมปะชวน ทั้งต้นควั่นตากแห้งต้มน้ำกินแก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว ขัดเบา ช้ำรั่วได้ ตา ของ "อ้อยแดง" จะมีรสขมกว่าเปลือกเยอะ นิยมนำไปปรุงเป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษตานซางในเด็ก และบำรุงธาตุ ทำให้เกิดกำลังดีมาก ใครต้องการต้น "อ้อยแดง" ไปปลูก ลองติดต่อ "คุณพร้อมพันธุ์" ตามสถานที่ที่กล่าวข้างต้น อาจจัดหาให้ได้ครับ.
อะโวคาโด้ มีหลายพันธุ์
อะโวคาโด้
      มีผู้อ่านจำนวนมากอยากทราบว่า "อะโว-คาโด้" มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างไร และทำไมรูปทรงของผล "อะโวคาโด้" จึงมีหลายรูปแบบนัก ซึ่งความจริงแล้ว "อะโวคาโด้" มีหลายสายพันธุ์ แม้รูปทรงของผลจะแตกต่างกัน หรือรสชาติอร่อยไม่เท่ากัน แต่คุณค่าทางโภชนาการจะเท่ากันทุกอย่าง
      อะโวคาโด้ ที่เสนอในคอลัมน์วันนี้เป็นอีกชนิดหนึ่งที่มีรูปทรงของผลแปลกกว่า "อะโวคาโด้" ทั่วไปที่มีรูปทรงกลม หรือกลมรีคล้ายหยดน้ำ แต่ที่พบวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ รูปทรงจะคล้ายน้ำเต้า ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ราคาผลละ 20 บาท เมื่อใช้มีดผ่าชิมรสชาติแล้วมันกรอบอร่อยเหมือนกับผล "อะโวคาโด้" ทั่วไปทุกอย่าง ซึ่งผู้ขายไม่ทราบชื่อสายพันธุ์ ทราบเพียงว่ามีปลูกเก็บผลจำหน่ายแพร่หลายทางภาคเหนือ
      อะโวคาโด้  หรือ  AVOCADO  PERSEA AMERICANA เป็นไม้ผลที่มีแหล่งปลูกเก็บผลส่งขายทั่วโลกในแถบอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง ในประเทศไทยถูกนำเข้ามาขยายพันธุ์ปลูกและเก็บผลขายนานหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่นิยมปลูกเฉพาะทางภาคเหนือ มีด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ตามที่กล่าวข้างต้น ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ผลดิบเป็นสีเขียว เปลือกแข็ง เนื้อในมีรสชาติมันกรอบ ไม่หวาน เมื่อผลสุกจะเป็นสีม่วงคล้ำ เนื้อในนุ่มไม่กรอบ รสชาติมันอร่อยดี
      คุณค่าทางโภชนาการระบุว่า กินผล "อะโวคาโด้" จะช่วยบำรุงผิวพรรณ ให้สวยงามไม่แก่เร็ว ที่สำคัญกินแล้วจะไม่เป็นหมัน ป้องกันหวัด เลือดออกตามไรฟัน มีวิตามินเอบวกสารเบต้าแคโรทีน บำรุงสายตา มีโปรตีนสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่น แต่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ และไขมันใน "อะโว-คาโด้" มีประโยชน์ลดไขมันในเลือด กินแล้วลดน้ำหนักได้ดี สามารถให้ทารกกินได้โดยตรง หรือผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกสัดส่วนเท่ากัน จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ผลสดจิ้มน้ำพริกแทนผักได้ ทำสลัด เนื้อสุกใช้ทาขนมปังแทนเนย กินกับน้ำตาลโรยหน้าหรือเกลือป่นโรยอร่อยดี หั่น เป็นชิ้นลูกเต๋าทำน้ำแข็งไสกินชื่นใจดีนัก ปัจจุบันมีการ เอาน้ำมัน "อะโวคาโด้" ทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ขจัดสิว ลดการเป็นฝ้า ทำสบู่ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในต่างประเทศ มีผลแปลกขายที่ แผง "คุณวิรัช" หน้าธนาคารออมสินครับ.
เอื้องตะขาบใหญ่เอื้องตะขาบใหญ่ แก้ปวดหัว ตับแข็ง
      กล้วยไม้ชนิดนี้ พบทั่วไปตามป่าดิบเขาทุกภาคของประเทศไทย มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ จะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่สีของดอก และช่วงเวลามีดอก บางชนิดดอกมีกลิ่นหอมเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว แต่ที่เหมือนกันเกือบ
ทุกสายพันธุ์ได้แก่ ใบของกล้วยไม้ในตระกูลนี้จะดูคล้ายเกล็ดปลา หรือตัวตะขาบ ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับจำพวกหายาก ไม่ค่อยมีใครทราบว่า "เอื้องตะขาบใหญ่" มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย
      โดย ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใช้ทั้งต้นของ "เอื้องตะขาบใหญ่" ตำพอกศีรษะแก้ปวดหัวดีนัก นำไปผสมกับต้น ต้างใหญ่ เอาทุกส่วนอย่างละนิดหน่อย กับเอื้องงูเขียวปากม่วง ทั้งต้นต้มน้ำดื่มขณะอุ่น เป็นยารักษาโรคตับโตและตับแข็งได้
      เอื้องตะขาบใหญ่ หรือ DENDROBIUM LEONIS (LINDL.) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นยาวได้ 25 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียกสลับแบนสองด้านคล้ายตะขาบ จึงถูกเรียกชื่อว่า "เอื้องตะขาบใหญ่" ดอก ออกเป็นช่อ
กระจุกที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองหรือสีชมพูอมม่วง ดอกมีกลิ่นหอมแรง ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 1 ซม. ดอกออกได้เรื่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น หรือเหง้า มีชื่อเรียกอีกคือ ก้างปลา และ เกล็ดนิ่ม มีต้น
ขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผง "คุณวิรัช" หน้าธนาคารออมสิน ราคาสอบถามกันเอง
เอื้องสายสี่ดอก สวยแก้หืดได้
เอื้องสายสี่ดอก
      กล้วยไม้ หลายชนิดนอกจากจะมีดอกสวยงามแล้ว บางพันธุ์ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรชั้นดีอีกด้วย ซึ่ง "เอื้องสายสี่ดอก" ก็จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว แต่ยังมีผู้อ่านจำนวนมากให้ลงภาพของดอกให้ชัดเจนอีกซักครั้ง พร้อมข้อมูลด้วย จะได้ซื้อไปปลูกไม่ผิดอีก เพราะเคยซื้อไปปลูกแล้วมีดอกไม่เหมือนกับที่ลงในไทยรัฐ และเป็นจังหวะที่พบว่ามีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ กำลังมีดอกสวยงามมาก จึงถ่ายภาพ นำเรื่องสนองความต้องการของแฟนๆทันที
      เอื้องสายสี่ดอก หรือ DENDROBIUM CUMULATUM  LINDL. อยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่มีการเจริญทางด้านข้าง ได้แก่ กล้วยไม้ที่มีเหง้า ส่วนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่แล้วสามารถแตกต้นใหม่ หรือหน่อใหม่จากโคนกอ หรือตามข้อลำต้นได้ มีมากมายหลายสกุล เช่น สกุลหางแมงเงา สกุลสิงโต สกุลน้ำต้น สกุลกะเรกะร่อน สกุลหวาย สกุลเพชรหึง เป็นต้น และ"เอื้องสายสี่ดอก" ก็รวมอยู่ในกลุ่มเจริญทางด้านข้างตามที่กล่าวข้างต้นด้วย ลักษณะลำต้นหรือลำลูกกล้วยเป็น สายยาว ใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน
        ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจะ มี 2-5 ดอก ต่อช่อ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ เป็นสีชมพูอมม่วง กลีบปากเป็นสีขาวครีม มีสัน 2 สัน ไม่ชัดเจน ฝาครอบเกสรตัวผู้สีเหลือง ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 1.5 ซม. เวลามีดอกหลายๆช่อและดอกบานพร้อมกันและช่อดอกห้อยลง จะดูเป็นสีชมพูหวานซึ้ง สวยงามน่ารักมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกเหง้า หรือแยกหน่อ มีชื่อเรียกอีกคือ เทียนทอง เทียนพญาอินทร์ (ภาคเหนือ-ภาคตะวันออก) พบขึ้นตามธรรมชาติมากที่สุดทางภาคเหนือในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ภาคตะวัน ออกที่ตราด ภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานีและพังงา
        ปัจจุบัน "เอื้องสายสี่ดอก" มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง "คุณวิรัช" หน้าธนาคารออมสิน ราคาสอบถามกันเอง นิยมปลูก 2 แบบ คือปลูกลงกระถางกล้วยไม้และปลูกให้ต้นเกาะซากไม้ขนาดใหญ่ หลังปลูกนำไปแขวนในที่แจ้ง มีลมพัดโกรกดี ตลอดวัน รดน้ำเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยกล้วยไม้ ละลายน้ำฉีดพ่นสม่ำเสมออาทิตย์ละครั้ง จะทำให้ "เอื้องสายสี่ดอก" มีดอกดก สีสันของดอกเข้มข้นสวยงามเมื่อถึงฤดูกาล
       สรรพคุณทางสมุนไพร ใช้ลำต้นครั้งละ 1 ต้น ตัดเป็นท่อน สั้นๆ ต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มแทนน้ำชาทั้งวัน เป็นยาแก้หืดหอบดีมากครับ.
ออริกาโน่ ใบหอมโรยหน้าพิซซ่า
ออริกาโน่
       คนที่ชอบรับประทานพิซซ่าส่วนใหญ่จะรู้ว่า ใบ ของ "ออริกาโน่" ซึ่งมีกลิ่นหอมและเป็นส่วนประกอบใช้โรยหน้าแผ่นพิซซ่า ทำให้มีกลิ่นหอมชวนรับประทานยิ่งขึ้น และจะเป็นของคู่กันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวพอดี ซึ่งถ้าหากพิซซ่าขาดการโรยหน้าด้วยใบของ "ออริกาโน่" แล้วจะจืดชืด รับประทานไม่อร่อย ทำให้ไม่ใช่พิซซ่าเต็มร้อยนั่นเอง
       หลายคน แม้รู้ว่าใบของ "ออริกาโน่" โรยหน้าพิซซ่าแล้วทำให้มีกลิ่นหอมกินอร่อย แต่เชื่อได้เลยว่าน้อยคนนักจะเคยพบเห็นต้นจริงว่าเป็นแบบไหน และเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีผู้นำเอาต้น "ออริกาโน่" ออกมาวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่ง "ออริกาโน่" พันธุ์นี้จะมีใบด่างและมีดอกเป็นช่อยาวคล้ายช่อดอกราชาวดี สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ จึงรีบแนะนำให้รู้จักทันที
       ออริกาโน่ เป็นไม้ล้มลุกอายุ 2-3 ปี พวกเดียวกับหูเสือของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก มีลักษณะแตกต่างกันไป แต่ทุกพันธุ์จะมีเหมือนกันคือใบมีกลิ่นหอมเป็นมิ้นท์ตัวหนึ่ง อยู่ในวงศ์ LABIATAE ลำต้นกลม อวบน้ำใสๆ สีเขียวอ่อน ต้นสูงประมาณ 20-40 ซม. แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มเยอะ ลำต้นและกิ่งก้านเปราะ หรือหักง่าย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม ก้านใบยาว ใบเป็นรูปกลมรี หรือรูปพัดจีน ปลายใบมนหรือแหลมเล็กน้อย โคนใบตัดชัดเจน เนื้อใบหนา มีขนละเอียดทั่ว ใบอวบน้ำเช่นเดียวกับลำต้น ใบมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบหูเสือของไทย แต่กลิ่นจะหอมนุ่มนวลและแรงกว่า ใช้มือจับหรือลูบเบาๆ เอามือขึ้นดมจะได้กลิ่นติดมือชื่นใจมาก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ผิวใบเป็นสีเขียว มีขลิบสีขาวรอบตามขอบใบ ทำให้เวลามีใบดกๆ ดูสวยงามแปลกตามาก
       ประโยชน์ของใบ "ออริกาโน่" นิยมเด็ดหั่นเป็นฝอยๆ แล้วตากแห้งสนิท ไม่ต้องอบเพราะจะทำให้
กลิ่นหอมจางหายไปเยอะ จากนั้นนำไปป่นหยาบๆ ใช้ โรยหน้าพิซซ่า คลุกหมักเนื้อและปลาดับกลิ่นคาว ทำให้มีกลิ่นหอมรับประทานได้ อร่อยมาก เหมือนกับใบของ "โรสแมรี่"
      ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อยาวคล้ายช่อดอกราชาวดี แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกมีขนาดเล็ก เป็นสีขาว เวลามีดอกจะดูสวยงามน่ารักมาก ดอกออกได้ตลอดหรือเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำต้น ปัจจุบันมีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 2 แผง "ป้าแอ๊ด" ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง เหมาะจะปลูกเป็นพืชครัวใช้ประโยชน์ในบ้าน หรือ ปลูกเป็นไม้ประดับ เวลามีใบดกและมีดอกเป็นช่อยาวๆ จะสวยงามน่าชมยิ่งครับ.
องุ่นต้นบราซิล  อร่อยแปลกเป็นยา
       องุ่นต้นบราซิล  ถูกนำเข้ามาทดลองปลูก และขยายพันธุ์ในประเทศไทยกว่า 6-7 ปีแล้ว สามารถเติบโตได้ดี มีผลให้เก็บรับประทานได้ อร่อยไม่แพ้การปลูกในประเทศบ้านเกิด คือ บราซิล  โดนในประเทศบราซิล นอกจากนิยมปลูกเป็นไม้ผลในบริเวณบ้านแล้ว ยังนิยมปลูกในเชิงพาณิชย์ เก็บเอาผลไปแปรรูป  ทำน้ำผลไม้  ผลิตเหล้าวิสกี้ชั้นดี  ไวน์  และแชมเปญ ได้รับความนิยมจากผู้ดื่มอย่างแพร่หลาย
องุ่นต้นบราซิล
       อย่างไรก็ตาม "องุ่นต้นบราซิล"  ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร ใช้รักษาโรคได้หลายอย่างด้วย  โดยในบราซิลใช้ผิวของลำต้น เป็นยารักษาโรคหืด  ลดการอักเสบเรื้อรังของต่อมทอนซิล ได้  จึงถือว่า "องุ่นต้นบราซิล"  มีคุณค่าควรปลูกเป็นอย่างยิ่ง
        องุ่นต้นบราซิล  หรือ  JABOTI  CAB - MYRCEAREA  CAULIFLORA  อยู่ในวงศ์  MYRTACEAE  เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็ง  ต้นสูง  10-15  เมตร  ลำต้นใหญ่  เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเทา  แตกกิ่งก้าน สาขาเป็นพุ่มกว้างและหนาแน่นมาก  ใบเป็นเดี่ยว  ออกเรียงสลับ  เป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน  ปลายแหลม  โคนใบสอบ  ใบดกและให้ร่มเงาดีมาก  โดยเฉพาะ เวลาแตกยอดอ่อน  ใบจะเป็นสีแดงสดใส  ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว เมื่อใบแก่  ทำให้ดูสวยงามยิ่ง  ที่สำคัญนักเลง "บอนไซ"  หรือ ไม้แคระ  นิยมเอา "องุ่นต้นบราซิล" ไปลูกเป็นบอนไซลงกระถางสวยงามมาก
      ดอกเป็นสีขาว  ออกตามลำต้นและกิ่งก้าน  "ผล"  เป็นรูปทรงกลม  หรือรูปกลมรีเล็กน้อย  ผลโตเต็มที่ ประมาณผลตะขบป่า  ผลสุกเป็นสีม่วงเกือบดำ  ออกเป็นกระจุกหนาแน่น  ตามลำต้นกิ่งก้าน อย่างน้อย 70-80 ผล (ดูภาพประกอบด้วย) มองเผิน ๆ  คล้ายลูกหว้า  เนื้อในฉ่ำน้ำเล็กน้อย    คล้ายเนื้อลูกไหนของจีน   รสชาติหวานปนฝาดนิด    กรอบอร่อยมาก ภายในมีเมล็ด  1  เมล็ด  ติดผลได้เรื่อย ๆ  ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด  และตอนกิ่ง  ปัจจุบัน "องุ่นต้นบราซิล" มีขายที่ตลาดนัด ไม้ดอกไม้ประดับ  สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี  แผงคุณก็อต - คุณหลง ตรงกันข้ามกับโครงการ 15    ราคาสอบถามกันเอง  ปลูกได้ในดินทั่วไป โตเร็ว ไม่ชอบน้ำท่วมขังแต่ชอบน้ำชุ่มฉ่ำแบบสม่ำเสมอ  ระยะปลูก  2  ปีติดผล ผลสุก เป็นสีม่วง หรือ ม่วงดำ คล้ายสีของผลหว้า แต่เปลือกจะเหนียว และหนากว่า เวลารับประทานเนื้อใน ต้องใช้เล็บจิก หรือฉีกให้เปลือกขาด จึงจะกินได้ เนื้อในเป็นสีขาวหุ้มเมล็ด เป็นปุยเหมือนเนื้อของกระท้อน รสชาติ เปรี้ยวนำปนหวานนิด ๆ คล้ายรสชาติของผลหว้าอร่อยมาก เวลาติดผล จะเป็นพวง หรือเป็นกลุ่มกระจายตามลำต้นและกิ่งก้านน่าชมยิ่ง เหมือนกับไข่ปลา หรือไข่กบสีดำติดกระจายอยู่บนต้นแปลกมาก ดอกและผล เป็นตลอด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง
    องุ่นต้นบราซิล ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรด้วย โดยในประเทศบราซิล ถิ่นกำเนิดของต้นไม้ชนิดนี้ ใช้เปลือกหรือผิวของลำต้น ไปทำยารักษาโรคหืด โรคท้องร่วง และลดการอักเสบเรื้อรังของต่อมทอนซิลได้ดีมาก (วิธีรับประทาน ใช้ต้มน้ำดื่มกะจำนวนไม่มากนัก ดื่มวันละหลายครั้ง) และจากสรรพคุณดังกล่าว จึงเป็นไม้น่าปลูกเป็นอย่างยิ่ง

องุ่นต้นบราซิล  อีกครั้ง
องุ่นต้นบราซิล
       ผม เคยเขียนถึง "องุ่นต้นบราซิล" ไปแล้ว โดยในตอนนั้นผมไม่ได้ทดลองกินผลของ "องุ่นต้นบราซิล" อย่างเต็มที่ แค่ใช้ลิ้นแตะผลสุกที่เกือบจะเน่าอยู่แล้ว แต่ก็พอรู้ว่ารสชาติเปรี้ยวปนหวานนิดๆอร่อยดี และ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อนฝูงที่เป็นคนขายกล้าไม้ได้นำเอาผลสุกสดๆให้ผมทดลองชิมอย่างเต็มที่ คราวนี้จึงรู้รสชาติแท้ๆของ "องุ่นต้นบราซิล" จริงๆว่าเปรี้ยวปนหวาน มีเนื้อหุ้มเมล็ด 1 เมล็ด แบบฉ่ำน้ำชุ่มคอดีมาก ซึ่งเพื่อนได้บอกอีกว่า "องุ่นต้นบราซิล" ปลูกแล้วโตเร็ว ติดผลดกมาก สามารถเก็บผลไปแปรรูป ทำน้ำผลไม้ หมักทำเหล้าวิสกี้ ไวน์ และ แชมเปญ ได้คุ้มค่า และมีผลทั้งปี จึงนำเสนอในคอลัมน์อีกครั้งตามระเบียบ
       องุ่นต้นบราซิล หรือ JABOTICABA MYRCIARIA CAULIFLORA อยู่ในวงศ์ MYRTACEAE เป็นไม้ยืนต้น เนื้อแข็ง สูง 10-15 เมตร ลำต้นใหญ่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเทา แตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่มกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบดกให้ร่มเงาดีมาก โดยเฉพาะตอนแตกใบอ่อน ใบจะเป็นสีแดงสดก่อนเปลี่ยนเป็นสีเขียวทำให้ดูงดงามสดใสยิ่งนัก นักเลงบอนไซในบ้านเรานิยมนำเอาต้นไปทำเป็นไม้แคระ หรือบอนไซสวยงามมาก
      ดอกเป็นสีขาว ออกตามลำต้นและกิ่งก้าน ดอกเป็นฝอยๆ หรือเป็นพู่คล้ายดอกพู่จอมพล เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูแปลกมาก "ผล" เป็นรูปทรงกลม ผลโตเต็มที่ประมาณผลตะขบป่า หรือประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ ผลสุกเป็นสีม่วง หรือ ม่วงดำ คล้ายสีของผลหว้า แต่เปลือกของผล "องุ่นต้นบราซิล" จะเหนียวและหนากว่า เวลารับประทานเนื้อในต้องใช้ เล็บจิก หรือฉีกให้เปลือกขาดจึงจะกินได้ เนื้อในเป็นสีขาวหุ้มเมล็ด เป็นปุยเหมือนเนื้อของกระท้อน รสชาติเปรี้ยวนำปนหวานนิดๆคล้าย รสชาติของผลหว้าอร่อยมาก เวลาติดผลจะเป็นพวงหรือเป็นกลุ่มกระจายตามลำต้นและกิ่งก้านน่าชมยิ่ง เหมือนกับไข่ปลาหรือไข่กบสีดำติดกระจายอยู่บนต้นไม้แปลกมาก ดอกและผลมีตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง "คุณก็อต?คุณหลง" ตรงกันข้ามโครงการ 15 ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ ในดินทั่วไป โตเร็ว
      องุ่นต้นบราซิล ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรด้วย โดยในประเทศบราซิลถิ่นกำเนิดของต้นไม้ชนิดนี้ ใช้ เปลือกหรือผิวของลำต้น ไปทำยารักษาโรคหืด โรคท้องร่วง และ ลดการอักเสบเรื้อรังของต่อมทอนซิลได้ดีมาก (วิธีรับประทาน ใช้ต้มน้ำดื่มกะจำนวนไม่มากนัก ดื่มวันละหลายครั้ง) และจากสรรพคุณดังกล่าว "องุ่นต้นบราซิล" จึงเป็นไม้น่าปลูกเป็นอย่างยิ่งครับ.
ฮอลลี่ฮ็อค ดอกสวยมีสรรพคุณ
ฮอลลี่ฮ็อค
      ไม้ต้นนี้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน ประเทศตุรกี และประเทศในแถบเอเชียอีกหลายประเทศ มีด้วยกันหลายสีและหลายสายพันธุ์ โดยมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกัน ซึ่งในประเทศไทยบ้านเราถูกนำเข้ามาปลูกประดับช้านานแล้ว ส่วนใหญ่เท่าที่ทราบมักจะเป็นสายพันธุ์จากประเทศจีน นิยมปลูกเป็นกลุ่มจำนวนหลายต้นประดับสวนหย่อม สวน สาธารณะ หรือตามรีสอร์ตเชิงเขา เวลามีดอกไต่ตามซอกใบจากโคนต้นขึ้นไปจนจดปลายยอดจะดูสวยงามยิ่งนัก โดยเฉพาะถ้าปลูกเป็นแถวหรือเป็นกลุ่มหลายๆสี เนื่องจากต้นของ "ฮอลลี่ฮ็อค" จะตั้งตรงและไม่แตกกิ่งก้าน จึงทำให้ดอกดูเรียงกันเป็นระเบียบน่าชมมากนั่นเอง
      ฮอลลี่ฮ็อค นอกจากจะมีดอกสวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว บางส่วนของต้น "ฮอลลี่ฮ็อค" ยังมี ประโยชน์ทางสมุนไพรอีกด้วย เช่น ราก และ เมล็ด ใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้ไข้ รักษาแผลเรื้อรังได้ ดอก นำไปต้มน้ำเดือดดื่มช่วยให้การไหลเวียนของ โลหิตดีขึ้น แก้โรคริดสีดวงทวาร และโรคประจำเดือนไม่ปกติ
      ฮอลลี่ฮ็อค หรือ ALCEA  ROSEA  LINN. ชื่อสามัญ HOLLYHOCK อยู่ในวงศ์ MALVACEAE เป็นไม้ล้มลุก อายุประมาณ 2 ปี ต้นสูง 0.5-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้านสาขาตามที่กล่าวข้างต้น มีขนกระจายทั่วทั้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปหัวใจค่อนข้างกลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักเป็น 5-7 แฉก ก้านใบยาว ผิวใบสีเขียวสด
      ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ บางครั้งจะซ้อนกัน มีด้วยกันหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู และ สีแดง ใจกลางดอกมีทั้งชนิดเป็นสีเหลืองและสีชมพู ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 10 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามน่ารักมาก "ผล" ค่อนข้างกลม เส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. เมล็ดรูปกลมแบน ขอบสองข้างเป็นสัน ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
      ปัจจุบัน "ฮอลลี่ฮ็อค" มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 1 แผง "คุณนริศ" มีเพียงสีเดียวคือสีชมพูตามภาพที่เสนอประกอบคอลัมน์ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป นิยมปลูกประดับเป็นกลุ่มจำนวนหลายๆต้น หรือปลูกลงกระถางหลายๆกระถางและหลายๆสี ตั้งประดับบริเวณบ้าน สำนักงาน มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน รดน้ำเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสูตร 16-16-16 เดือนละครั้ง จะมีดอกสวยงามครับ.
ฮอลลี่ฮ็อค ดอกสวยสรรพคุณดี
ฮอลลี่ฮ็อค
      ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบว่า ฮอลลี่ฮ็อคมีถิ่นกำเนิดจากประเทศอะไร และมีสรรพคุณทางสมุนไพรหรือไม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ฮอลลี่ฮ็อคเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา แต่ ความจริงแล้ว ฮอลลี่ฮ็อคมีถิ่นกำเนิด จากประเทศจีน แล้วกระจายพันธุ์ปลูกประดับไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ส่วนใหญ่นิยมปลูกประดับเป็นไม้เฉพาะกาลในเทศกาลต่างๆได้งดงามมาก
      อย่างไรก็ตาม ฮอลลี่ฮ็อคนอกจากจะมีดอกสีสันสวยงามแล้ว มีอีกอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปไม่รู้คือ ฮอลลี่ฮ็อคมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย โดย ราก และ เมล็ด ใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ไข้ รักษาแผลเรื้อรังดีมาก น้ำต้มจากดอก ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น แก้โรคริดสีดวงทวาร และโรคประจำ เดือนไม่ปกติในสตรี
      ฮอลลี่ฮ็อค หรือ ALCEA ROSEA LINN. อยู่ในวงศ์ MALYACEAE มีชื่อสามัญคือ HOLLYHOCK เป็นไม้ล้มลุกสูง 0.5-2.5 เมตร ลำต้นไม่แตกกิ่งก้าน มีขน ใบเดี่ยวออกเรียงสลับรูปหัวใจค่อนข้างกลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักเป็น 5-7 แฉก ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีกลีบเลี้ยงรูประฆังแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ บางครั้งซ้อนกัน มีหลายสี เช่น ขาว ชมพู ม่วง เป็นต้น ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เวลามีดอกจะสวยงามมาก ผลค่อนข้างกลม มีเมล็ดแบน ขอบสองข้างเป็นสัน ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปลูกได้ในดินทั่วไป ส่วนใหญ่นิยมปลูกและขยายพันธุ์ขายตามสวนไม้ดอกสวยงามขนาดใหญ่ ทางภาคเหนือ เพื่อนำต้นไปตั้งประดับเพื่อความสวยงามในเทศกาลต่างๆตามที่กล่าวข้างต้น
       ปัจจุบันนานๆจะพบมีผู้นำเอาต้นวางขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงปากทางเข้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเองครับ.












1 ความคิดเห็น:

  1. A large part of Alfa Chemistry's customers are pharmaceutical and biotechnology companies, including Pfizer, Novartis, Merck & Co., Johnson & Johnson, AstraZeneca, and Bayer. Alfa Chemistry is also a preferred partner for many universities and non-profit institutes. honeysuckle extractive

    ตอบลบ