คำปรารภ

ชุมนุมสมุนไพรในบล๊อกของข้าพเจ้านี้ ได้นำบทความจากคอลัมน์ "เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ" โดย นายเกษตร ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งข้าพเจ้าชอบคอลัมน์นี้มาก จึงตัดเอามาพิมพ์และแปะไว้ในสมุดหลายเล่ม และอยากจะนำมาเผยแพร่ในบล๊อก จึงขออนุญาตท่านนายเกษตรจากบล๊อกนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่รู้จะติดต่อขออนุญาตท่านได้อย่างไร ข้าพเจ้าจึงขอขอบคุณท่านมาก และยังได้นำสูตรที่ท่านให้ไว้นำไปทำรับประทานและได้ผลค่อนข้างดีมาก

อักษร จ - ญ

จิงจูฉ่าย กับงานวิจัยใหม่
จิงจูฉ่าย
        ผมเคยเขียนถึงสรรพคุณของ จิงจูฉ่ายไป 2 ครั้ง ว่า เป็นผักที่ชาวจีนนิยมปลูกเพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะเอายอดอ่อน หรือทั้งต้นทำต้มเลือดหมูกินกับข้าวสวยร้อนๆอร่อยมาก ซึ่งแพทย์จีนเชื่อว่า จิงจูฉ่ายเป็นยาเย็น (หยิน) เมื่อกินแล้วจะช่วยแก้ไข้ได้ บำรุงปอด ฟอกเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี ต้นและใบมีน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วย ไลโมนีน, ซิลินีน และ สาร ไกลโคไซด์ ชื่อ อะพิอิน มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต ทำให้เส้นเลือดขยายตัว ช่วยขับลมในกระเพาะอาหารลำไส้ เมล็ด มี โซเดียมต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้เป็นโรคไต
ปัจจุบัน มีงานวิจัยใหม่ระบุว่า จิงจูฉ่ายใช้ต้นและใบกะพอประมาณปั่นผสมน้ำสะอาด 1-2 แก้ว ใช้ผ้าขาวบางกรองเอาเฉพาะน้ำดื่มวันละแก้ว จะช่วยป้องกันมะเร็งได้ จึงรีบแนะนำให้ผู้อ่านไทยรัฐทราบอีกตามระเบียบ
จิงจูฉ่าย SAGEB RUSH หรือ APIUM GRAVEOLENS L. ชื่อสามัญ CELERY อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE  เป็นไม้ล้มลุก หรือไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.5-1 ฟุต รากหรือเหง้าใหญ่กระจายกว้าง แตกกิ่งก้านหนาแน่นแผ่กว้างคลุมดินคล้ายๆกับต้นบัวบก ใบรูปรีขอบจักเป็น 5 แฉก ทรงใบเหมือนใบขึ้นฉ่าย เนื้อใบหนา มีกลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปัจจุบัน มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง คุณพร้อมพันธุ์และ แผง คุณตุ๊กหน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง
ปลูกได้ ในดินทั่วไป สามารถปลูกลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน เป็นพืชครัวได้ดีมาก เวลาแตกต้นและใบเยอะเก็บปรุงอาหารรับประทานมีประโยชน์ยิ่งครับ 
จิกนํ้า ยอดอ่อนแดงดอกเป็นระย้า

 ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากสงสัยว่าต้นจิกมีกี่ชนิดกันแน่ เนื่องจากพบที่วางขายมีป้ายชื่อเรียกต่างกันคือ มีทั้งชื่อ จิก จิกนํ้า และ จิกมุจรินทร์ ซึ่งความจริงแล้ว ต้นจิกที่เคยรู้จักและคุ้นเคยกันมาแต่โบราณจะมีแค่ต้น จิก จิกนํ้า และ จิกนา ส่วนต้น จิกมุจรินทร์ เพิ่งจะได้ยินชื่อเหมือนกัน โดยต้นจิกทุกชนิดมีถิ่นกำเนิดทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ชอบขึ้นในที่ลุ่ม ตามริมห้วย ชายคลอง หนองบึง นิยมปลูกกว้างขวางตามหัวไร่ปลายนา
จิกนํ้า
ประโยชน์ทางอาหาร ยอดอ่อน และ ดอก กินเป็นผักสด ผักจิ้ม กับลาบ นํ้าตก แจ่ว ขนมจีน รสชาติมันปนฝาด เพิ่มความอร่อยได้เด็ดขาดมาก ซึ่งยอดอ่อนของจิก หรือ "จิกนํ้า" และจิกนา จะมีขายเป็นกำๆ ตามแผงจำหน่ายพืชผักพื้นบ้านทั่วไป ราคาอยู่ระหว่างกำละ 5 บาท ได้รับความนิยมจากผู้รับประทานแพร่หลาย
       นอกจาก ยอดอ่อนของ จิก หรือ "จิกนํ้า" และ จิกนา จะกินเป็นอาหารได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรและประโยชน์อื่นๆอีกด้วย โดยเปลือก ต้น ใช้เบื่อปลา เนื้อไม้ทำไม้อัด ทำเครื่องเรือน ใบแก่ ต้มนํ้าดื่มแก้ท้องร่วง เมล็ด เข้ายาลมใช้แก้อาการจุกเสียด แก้ไอในเด็ก ตำรายาพื้นบ้าน เนื้อไม้ เป็นยาขับระดูขาว เมล็ด แก้แน่น ท้องดีมาก
      จิกนํ้า จิก และ จิกนา มีชื่อวิทยาศาสตร์ BARRINGTONIA ACUTANGULA GAERTN ชื่อสามัญ INDIAN OAK อยู่ในวงศ์ BARRINGTONIACEAE เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 5-15 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม ปลายกิ่งลู่ลง ใบอ่อนเป็นสีนํ้าตาลแดงเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายยอด เป็นรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ ปลายและโคนใบแหลม ขอบจักถี่ เวลามีดอกจะทิ้งใบเหลือเพียงใบอ่อนเป็นสีแดง สวยงามน่าชมมาก
      ดอก ออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด ห้อยลงเป็นระย้า ราว 30-40 ซม. มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น ปลายแยกเป็น 4 กลีบ หลุดร่วงง่าย เป็นสีแดง หรือ ชมพู เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีเกสรตัวผู้เป็นฝอยๆ สีชมพู หรือ สีแดง จำนวนมาก เวลามีดอกบานพร้อมกันจะสวยงามน่ารักยิ่ง โดยเฉพาะช่วงมีดอกจะทิ้งใบมีแต่ยอดอ่อนเป็นสีแดงจัด ยิ่งเพิ่มความงดงามยิ่งขึ้น "ผล" กลมยาว มีเมล็ด ดอกออกช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ปีถัดไป มีชื่อเรียกอีกคือ กระโดนทุ่ง กระโดนนํ้า (อีสาน-หนองคาย) ปุยสาย ตอง (ภาคเหนือ) จิกนํ้า จิกนา และ จิก (ภาคใต้) มีต้นขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาตามขนาดของต้นครับ. 

แจง ปลูกยากกินได้เป็นยา
แจง
แจง   เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่บรรดาผู้ขยายพันธุ์ไม้ขายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า   ทำต้นยากมาก แม้   จะเพาะเป็นต้นกล้าขึ้นมาได้   แต่เมื่อนำไปปลูกต้นจะตาย   จึงทำให้ไม่มีต้นวางขายทั่วไป   ส่วนใหญ่ จะเป็นต้นที่เติบโตเต็มที่แล้ว และผู้ขายล้อมรากเอาต้นไปวางขาย   ซึ่งก็มีราคาสูงตามขนาดของต้น   เมื่อผู้ซื้อซื้อไปปลูกจึงจะรอดได้
       แจง   หรือ   MAERUA   SIAMENSIS   (KURZ) PAX อยู่ในวงศ์ CAPPARACEAE สูง 5-10 เมตร ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 3 ใบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง สีเขียวปนขาว ผล รูปรี เมล็ดรูปไต ดอกออกเดือนธันวาคม-มีนาคม ปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าทั่วไปทุกภาคของประเทศ ไทย ชาวบ้านในยุคสมัยก่อนนิยมนำ เอาดอกสดไปดองเค็มเหมือนกับการดองกุ่ม และผักเสี้ยน รับประทานกับน้ำพริกชนิดต่างๆอร่อยมาก
       ส่วนสรรพคุณทางสมุนไพร ตำรายาแผนไทยระบุว่า ราก ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย แก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัย โดยกะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดดื่มขณะอุ่น วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว ตอนไหนก็ได้ เปลือกต้น ราก และ ใบ จำนวนเท่ากันกะตามต้องการ ต้มน้ำรวมกันจนเดือดดื่มเป็นยาแก้ดีซ่าน หน้ามืด ตาฟาง ไข้มาลาเรีย ใบ และ ยอดอ่อน กะพอประมาณตำรวมกันใช้ สีฟันทำให้ฟันทน แก้ไข้ เนื้อไม้ จากลำต้นต้มน้ำดื่มแก้ปวดหลัง บำรุงธาตุดีมาก มีชื่ออื่นเรียกอีกคือ แกง (นครราชสีมา)

 
จมูกปลาหลด ของดีธรรมชาติกินได้เป็นยา
จมูกปลาหลด
 คนรุ่นใหม่ น้อยคนนักจะรู้จักต้น "จมูกปลาหลด" แต่คนในยุคสมัยโบราณส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากจะมีขึ้นเองตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่า ตามป่าละเมาะข้างทาง ริมแม่น้ำลำคลอง และบริเวณที่มีน้ำขังทั่วไป ชาวบ้านในยุคสมัยนั้นนิยมเก็บเอายอดของต้น "จมูกปลาหลด" ไปรับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริกชนิดต่างๆ หรือลาบ ก้อย น้ำตก รสชาติอร่อยดีมาก ซึ่งนอกจากต้น "จมูกปลาหลด" จะมีประโยชน์รับประทานได้แล้ว บางส่วนจากต้นยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรอย่างดีอีกด้วย
โดย ตำรายาแผนไทยระบุว่า ราก ใช้แก้โรคดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ใช้ต้มน้ำเดือดแล้วดื่ม ทั้งต้น ต้มน้ำกลั้วคอแก้เจ็บคอ และใช้ชำระล้างแผลทำให้แผลแห้งหายเร็วขึ้น ในประเทศอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย นิยมใช้ต้น "จมูกปลาหลด" เป็นสมุนไพรมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วเช่นกัน โดยในประเทศไทยปรากฏในเอกสารและจารึกบนแผ่นศิลาที่ผนังวัดพระเชตุพนและวัดราชโอรส อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ใช้ต้น "จมูกปลาหลด" ไปเข้ากับยาอื่นหลายชนิด เช่น ยาเขียวน้ำมูตร ยาเขียวมหาคงคา ยามหากระเพาะ และอื่นๆอีกมากมาย
      จมูกปลาหลด หรือ OXYSTELMA SECAMONE (L.) KARST. อยู่ในวงศ์ ASCLEPIADACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถาหรือต้นสามารถเลื้อยได้ไกลเกินกว่า 5 เมตร ยอดอ่อนมีขนเล็กน้อย และค่อนข้างเกลี้ยงเมื่อแก่ลำต้นมียางสีขาว   ใบเป็นใบเดี่ยว   ออกตรงกันข้าม รูปรีแคบและยาว ปลายเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว สีเขียวสด ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสดได้ตามที่กล่าวข้างต้น รสชาติมันปนเฝื่อนนิดๆ
         ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อที่ง่ามใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 3-4 ดอก บางครั้งช่อใหญ่มีได้ 6-9 ดอก ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ปลายแหลม ดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ดูคล้ายดาว ริมขอบกลีบมีขน กลีบดอกเป็นสีชมพูมีแต้มเป็นเส้นสีม่วงเข้มบริเวณโคนกลีบดอก   ใจกลางดอกเป็นสีเขียวอ่อน   มีเกสรตัวผู้หลายอัน   อับเรณูติดกันเป็นคู่จำนวน 5 คู่ ฝังอยู่ใจกลางดอก ปลายเส้นเกสรเป็นรูปห้าเหลี่ยมหุ้มเกสรตัวเมีย มีรังไข่ 2 ส่วน ปลายติดกัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก
        ผล เป็นฝักโค้ง รูปไข่ เปลือกนิ่ม ภายในพองลมคล้ายพริกหยวก แต่จะนิ่มและบางกว่า มีเมล็ดจำนวนมากติดอยู่กับไส้กลางผล เมื่อผลแก่จะแตกด้านเดียว เมล็ดมีขนสีขาวคล้ายปุยนุ่นติดที่ปลายเมล็ดด้านหนึ่ง ดอกออกช่วงฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกคือเครื่อไส้ปลาไหล (มหาสารคาม) ตะหมูกปลาไหล (ลพบุรี) ฝักไหม (เชียงใหม่) และ สอึก (ภาคกลาง) ครับ. 

เจียวกู่หลาน สรรพคุณสุดยอด
เจียวกู่หลาน
 ผู้อ่าน ที่เพิ่งมาเป็นสมาชิกไทยรัฐจำนวนไม่น้อยอยากทราบว่า "เจียวกู่หลาน" มีสรรพคุณอย่างไรบ้าง เนื่องจากตอนที่ผมเคยแนะนำในคอลัมน์ไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 42 ไม่ได้รับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่ง ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า "เจียวกู่หลัน" ตามที่ผู้ขายบอก พร้อมบรรยายสรรพคุณอย่างละเอียด ได้รับความนิยมปลูกกันอย่างกว้างขวาง และมีการแปรรูปเป็นชาชงดื่ม ทำแพ็กเกจสวยงามขายดิบขายดีมีคนซื้อไปชงดื่มแพร่หลาย  มีทั้งนำเข้าจากประเทศจีนและผลิตในประเทศไทยด้วย
เจียวกู่หลาน หรือ GYNOSTEMMA PEENTA- PHYLLUM MAKINO อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นกลมสีเขียว แตกกิ่งก้านทอดเลื้อยตามหน้าดินหรือไต่พาดพันต้นไม้อื่น มีรากหรือมือเกาะเป็นเส้นตามโคนก้านใบแล้วจะฝังลงดินแผ่กระจายไปเรื่อยๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 5 ใบ ขนาดไม่เท่ากัน เป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย สีเขียวเข้ม
         ดอกเป็นสีแดงขนาดเล็ก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อกระจุก 2-3 ดอก ออกที่ปลายยอด มีกลีบดอก 4 กลีบ ดอกจะออกเมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่ ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น ปัจจุบัน "เจียวกู่หลาน" มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง "คุณตุ๊ก" หน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง มีชื่อเรียกอีกคือ หญ้ามหัศจรรย์, โสมภาคใต้, โสมห้าใบ, สมุนไพรอมตะ ญี่ปุ่นเรียก "อะมาซาซูรู" หรือ ชาหวานจากเถา
        สรรพคุณ ทั้งต้นตั้งแต่ยอดถึงรากมีส่วนประกอบสำคัญเท่ากับโสมถึง 6 ชนิดรวมกัน ช่วยเสริมสร้างพลัง ช่วยรักษาโรคเฉียบพลันและร้ายแรงของคนวัยกลางคนจนถึงวัยชรา เช่น โรคเส้นเลือดใหญ่อุดตัน ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ เบาหวาน หอบหืด และโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เข้มแข็ง มีพลัง ทำให้ร่างกายมีความต้านทานโรค ระบาดได้ และรู้สึกกระชุ่มกระชวย "ฟื้นความหนุ่มสาว" กลับคืนมาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งผลการศึกษาวิจัยช่วยให้นอนหลับดี ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดระดับไขมันในเลือด เสริมระบบภูมิคุ้มกันยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีมากครับ  

จุหลัน รักษาไตพิการได้

จุหลัน
ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากที่นิยมปลูกกล้วยไม้ ขอให้แนะนำกล้วยไม้ชนิดที่มีดอกสวยงามและมีสรรพคุณทางสมุนไพรบ้าง จะได้ซื้อหาไปปลูกประดับชมความงามและใช้ประโยชน์เป็นยา ซึ่งกล้วยไม้ที่มีดอกสวยงามและมีสรรพคุณทางสมุนไพรมีหลากหลายชนิด เคยแนะนำในคอลัมน์ไปบ้างแล้ว บางชนิดมีผู้ขยายพันธุ์เอาต้นออกวางขายแพร่หลาย แต่ก็มีบางชนิดหายาก ไม่มีขายที่ไหน แนะนำไปแล้วต้องเสาะหากันเอาเอง
       สำหรับ "จุหลัน" เป็นกล้วยไม้ดินปลูกง่าย หาง่าย มีผู้ขยายพันธุ์ออกวางขายทั้งชนิดที่เป็นเหง้า หัว และเป็นต้น ราคาไม่แพงนัก ซึ่ง "จุหลัน" นอกจากจะมีดอกสวยงาม มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรใช้รักษา "โรคไตพิการ" ได้อีกด้วย โดยในตำรายาพื้นบ้านภาคอีสานระบุว่า ใช้ "ราก" ของ "จุหลัน" จำนวนมากหรือน้อยตามแต่จะหาได้ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มขณะอุ่นวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ยาจืดเมื่อไหร่ เปลี่ยนยาใหม่ต้มดื่มไปเรื่อยๆ จะช่วยทำให้ อาการ "โรคไตพิการ" ดีขึ้น ซึ่งคนที่เพิ่งจะเริ่มเป็นสามารถหายได้
      จุหลัน CYMBIDIUM ENSIFO LIUM (L.) SW. ชื่อพ้อง EPIDENDRUM ENSIEFOLIUM L. เป็นกล้วยไม้ดิน ลำต้นหรือลำลูกกล้วยเป็นรูปกระเปาะค่อนข้างกลม สูง 1.5-3 ซม. มีกาบใบหุ้ม ใบเป็นรูปเข็มขัด ปลายใบสอบกว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 30-60 ซม. สีเขียวสด
      ดอก ออกเป็นช่อตั้งขึ้น โดยช่อดอกออกจากโคนกอ ก้านช่อดอกยาว 20-30 ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 10-15 ดอก ลักษณะดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีเขียวอมเหลือง มีขีดตามยาวของกลีบสีน้ำตาลแดง 5-7 เส้น กลีบปากเป็นสีเหลืองอ่อน มีแต้มและประสีแดง ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 3-4 ซม. ดอกมีกลิ่นหอม เวลามีดอกเป็นช่อหลายๆช่อ และดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมให้ลมพัดโชยเข้าจมูกเป็นที่ชื่นใจมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนตุลาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าพบขึ้นตามป่าดิบเขาทางภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
      ปัจจุบัน "จุหลัน" มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง "คุณวิรัช" หน้าธนาคารออมสิน และโครงการ 23 แผง "คุณแก้ว-คุณหล้า-คุณนิด" มีทั้งชนิดที่เป็นหัวหรือเหง้าและเป็นต้น ราคาสอบถามกันเองครับ.

เฉาก๊วย มีต้นขาย

เฉาก๊วย
ผม เคยเขียนถึงต้น "เฉาก๊วย" ไปในฉบับวันที่ 19 ม.ค. ปี 43 พร้อมบอกสรรพคุณว่า ช่วยลดความ ดันโลหิตสูงได้ โดยตำรายาจีนให้เอาใบสดหรือแห้งของต้น "เฉาก๊วย" หนึ่งกำมือหรือพอประมาณใส่น้ำให้ท่วมต้มกับหม้อดินจนเดือดดื่มขณะอุ่นเป็นประจำ จะทำให้โรคความดันโลหิตสูงค่อยๆลดลงและควบคุมไม่ให้กำเริบได้ และยังช่วยเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำได้อีกด้วย ในตอนนั้นมีผู้นำต้น "เฉาก๊วย" จากประเทศจีนมาวางขายได้รับความนิยมปลูกกันแพร่ หลาย แต่ต่อมาได้ขาดหายไป ผู้อ่านไทยรัฐขอให้ช่วยแนะนำแหล่งขายพร้อมวิธีเอาต้น "เฉาก๊วย" ไปทำเป็น "เฉาก๊วย" ด้วย ซึ่งเป็นจังหวะพบว่าปัจจุบันมีผู้นำต้น "เฉาก๊วย" มาวางขายเมื่อไม่นานมานี้ จึงรีบสนองความ ต้องการผู้อ่านอีกทันที
       วิธี เอาต้น "เฉาก๊วย" ไปทำเป็น "เฉาก๊วย" สามารถทำได้คือ เอาทั้งต้นชนิดแห้ง (มีขายตามร้านยาจีน) กะจำนวนมากน้อยตามต้องการ ต้มกับน้ำจนได้น้ำเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล กรองเอาเฉพาะน้ำผสมกับแป้งมันกับแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อยหรืออัตราส่วนตามเหมาะสม จะทำให้ น้ำเป็นเจลลี่ เหนียวหนึบไม่เละ หั่นเป็นชิ้นลูกเต๋าหรือเป็นเส้นยาวตามต้องการ ใส่น้ำเชื่อมและน้ำแข็งรับประทานอร่อยมาก
       เฉาก๊วย หรือ MESONA CHINENSIS อยู่ในวงศ์เดียวกับกะเพรา แมงลัก ยี่หร่า โหระพา สะระแหน่ คือ LAMIACEAE เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นกลม เปราะและหักง่ายคล้ายสะระแหน่ กิ่งก้านแผ่กว้างคลุมหน้าดิน สามารถยาวได้ถึง 2-3 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรง กันข้าม เป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายแหลม โคนสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย สีเขียวสด
       ดอก ออกเป็นช่อแบบเชิงลดคล้ายช่อดอกกะเพรา ออกตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำ-นวนมาก ดอกเป็นสีขาว เวลามีดอกบานพร้อมกันจะดูแปลกตาดีมาก ดอกออกได้เรื่อยๆ เกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำกิ่ง ปัจจุบันต้น "เฉาก๊วย" มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ- พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ทราบว่าเป็น "เฉาก๊วย" นำเข้าจากประเทศจีนตัวใหม่ ปลูกแล้วเติบโตได้ดีกว่า "เฉาก๊วย" ตัวเก่าที่นำเข้ามาในตอนแรก กับแผง "คุณตุ๊ก" หน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ชอบแดดและความชื้นสูง หากปลูกจำนวนหลายๆต้น สามารถเก็บใบสดหรือตากแห้งใช้ ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นได้คุ้มค่า หรือจะชั่งกิโลขายเป็นรายได้เสริมดีมากครับ..

เจอราเนียม ไม้ประดับกันยุง

 ไม้ชนิดนี้ เพิ่งพบมีต้นวางขาย มีป้ายชื่อเขียนติดไว้ว่า เจอราเนียมพร้อมบอกสรรพคุณพิเศษนอกเหนือจากมีดอกสีสันสวยงามมากกว่า 7-8 สี ให้เลือกปลูกประดับแล้วว่าเป็นไม้ประดับกันยุงใหม่ล่าสุด แต่ละต้นปลูกในถุงดำ ต้นสูงไม่ถึง 1 ศอก กำลังมี ดอกบานสะพรั่งทุกต้น หลากหลายสีสันดูสวยงามมาก
เจอราเนียม
ผู้ขายบอกว่า ลักษณะพิเศษของ เจอราเนียมคือใบจะมีสรรพคุณสามารถกันยุงได้อีก โดยผู้ขายบอกว่า ตั้งแต่ช่วงพลบค่ำเป็นต้นไป ใบ จะขับกลิ่นน้ำมันหอมระเหยโชยออกมาตามธรรมชาติ เป็นกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นตะไคร้ ถ้าปลูกจำนวนหลายๆต้นแล้วผู้ปลูกยืนใกล้ๆจะได้กลิ่นดังกล่าวทันที ทำให้ยุงไม่บินเข้าไปใกล้ จึงทำให้ต้น เจอราเนียมนิยมปลูกเพื่อไล่ยุงกันอย่างแพร่หลายอยู่ในเวลานี้
       ที่สำคัญ ผู้ขายย้ำว่า ต้น เจอราเนียมมีข้อดีคือ เป็นไม้พุ่มต้น ไม่ใช่ไม้ล้มลุก มีอายุอยู่ได้นานหลายปี เมื่อปลูกแล้วคุ้มค่า ได้ทั้งความงามของดอกที่มีหลากหลายสีสัน และสามารถกันยุงไม่ให้กล้ำกรายเข้าไปในบ้านหรืออาคารได้ด้วย
       เจอราเนียม หรือ PALAR-GONIUM-HORTORUM L.H.BAIL อยู่ในวงศ์ GERA-NINACEAE ชื่อสามัญ GERA-NIUM มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มต้น สูงประมาณ 60 ซม. หรือเกือบ 1 เมตร ลำต้นกลม เส้นผ่าศูนย์กลางต้นประมาณ 1-1.5 นิ้วฟุต ลำต้นอวบน้ำ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับแน่นบริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่า ศูนย์กลางใบประมาณ 10 ซม. ขอบใบจัก โคนใบเว้า สีเขียวสด เนื้อใบค่อนข้างหนา
       ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกมีทั้งชนิดที่เป็นรูปมนและปลายแหลม มีด้วยกันหลายสี เช่น สีขาว ชมพู ส้ม แดง ม่วง เป็นต้น บางครั้งมี 2 สีในดอกเดียว เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก ผลกลม ขนาดเล็ก มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกได้เรื่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและปักชำต้น มีชื่อเรียกอีก คือ ปากนกกระเรียนมีถิ่นกำเนิดที่ แอฟริกา และ ออสเตรเลีย
      ปัจจุบัน เจอราเนียมมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณ แผง คุณนกหน้าตึกกองอำนวยการ มีให้เลือกเกือบทุกสี ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในที่รำไรและกลางแจ้ง เหมาะจะปลูกเป็นทั้งไม้ประดับและปลูกเพื่อกันยุง โดยนิยมปลูกเป็นกลุ่มจำนวนหลายๆต้นครับ.
ชะมวง ปลูกกินใบคุ้ม
ชะมวง
ใน บรรดาพืชกินใบมีทั้งชนิดที่เป็นไม้ล้มลุกและเป็นไม้ยืนต้น ซึ่ง ชะมวงเป็นไม้ยืนต้นกินใบที่ได้รับความนิยมปลูกกันอย่างกว้างขวาง โดยในทางอาหาร นิยมเอาใบอ่อนไป ต้มกับเนื้อ ทำแกงเลียง แกงส้ม แกงหมูใบ ชะมวงแกงใบ ชะมวงกับเนื้อวัว ปรุงรสตามชอบรับประทานอร่อยมาก ร้านข้าวแกง ร้านไหนมีแกงใบ ชะมวงตามที่กล่าวข้างต้น จะมีลูกค้าเข้าไปซื้อรับประทานแบบไม่ขาดร้าน
       ชะมวง หรือ  GARCINIA  COWAROXB. อยู่ในวงศ์ GUTTIFERAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบออกตรงกันข้ามเป็นคู่และมักจะแตกเป็น 3 ยอดบริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปไข่กลับ เนื้อใบหนา ยอดอ่อนเป็นสีน้ำตาลชัดเจน ใบแก่สีเขียวเข้ม มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ดอกสีขาวนวล มีกลีบดอก 3 กลีบ ดอกขนาดเล็ก เนื้อกลีบแข็ง มีกลิ่นหอม ดอกดกเวลามีดอกจะส่ง กลิ่นหอมอ่อนๆ ชื่นใจมาก ผลกลมเป็นพู เมื่อสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อผลเยอะ รสฝาด มีเมล็ด 4-6 เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง
       สรรพคุณทางยา ใบและผลมีรสเปรี้ยวช่วยเป็นยาระบายท้อง แก้ไข้กัดเสมหะ แก้ธาตุพิการ ใบผสมกับสมุนไพรอื่นปรุงเป็นยาขับเลือดสตรี ผลและใบแก่หมักเป็นกรดใช้ฟอกหนังวัว หนังควาย เปลือกต้นและยางให้สีเหลืองใช้เป็นสีย้อมผ้าได้ มีชื่อเรียกอีกคือ ส้มมวง, หมากโมก, มวง, กะมวง (ภาคใต้) ส้มโมง (อีสาน) และ ตระมูง (เขมร) มีกิ่งพันธุ์ขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง เจ๊แอ๊วราคาสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกในบริเวณบ้านเพื่อใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้น โดย เฉพาะเวลาที่พืชกินใบมีราคาแพงเช่นยุคปัจจุบัน จะคุ้มค่ามาก ปลูกได้ในดินทั่วไป เมื่อต้นตั้งตัวได้ไม่ต้องดูแลอะไรมากนัก สามารถเก็บยอดอ่อนรับประทานได้ตลอดเวลาครับ.  

ชะอม
 แพงปลูกกินเอง
ชะอม
ใครที่ชอบเดินซื้อผักสดตามตลาดสด หรือตามห้างสรรพสินค้าจะพบว่าระยะนี้ ชะอมมีราคาแพงมาก มัดละ 25 บาทขึ้นไปถึง 35 บาท ตามภาพเสนอประกอบคอลัมน์ แทบหยิบไม่ติดเลยทีเดียว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ชะอมไม่ค่อยจะแตกยอดอ่อนเนื่องมาจากสภาพอากาศไม่ดี เลยทำให้มีราคาแพง เหมือนกับมะนาวฤดูแล้งอย่างไรอย่างนั้น
        อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตต้น ชะอมที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านแบบลงกระถางขนาดใหญ่ก็ยังพอมียอดอ่อนแตกให้เก็บปรุงเป็นอาหารรับประทานได้อย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาด จึงอยากชักชวนให้ผู้อ่านไทยรัฐที่เป็นแฟนขาประจำคอลัมน์หันมาปลูก ชะอมเก็บยอดอ่อนรับประทานในครัวเรือนด้วยตัวเอง จะช่วยบรรเทาไม่ต้องควักเงินซื้อในราคาแพงเช่นปัจจุบันได้เป็นอย่างดี การปลูกก็แสนจะง่าย ใช้กิ่งปักลงดิน เป็นแถวยาวเป็นแนวรั้ว หรือปักลงกระถางขนาดใหญ่รด น้ำวันละครั้ง หรือ 2 วันครั้งไม่เกิน 2-3 เดือน สามารถเก็บยอดอ่อนรับประทาน เป็นอาหารได้แล้ว ที่สำคัญ กิ่งพันธุ์ ชะอมมีวางขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ เป็นมัด มัดละ 10-20 กิ่ง ราคาระหว่าง 50–70 บาท ไม่เกินนั้น
       ชะอม หรือ ACACIA PENNATA (L.) WILLD. INSUAVIS NIELSEN อยู่ในวงศ์ FABACEAE เป็นไม้พุ่มกิ่งก้านมีหนามแหลม มีสรรพคุณ ทางยา เปลือกต้นกับเปลือกต้นสะเดาและฟ้าทะลายโจรอบแห้งบดให้เข้ากัน ต้มน้ำดื่มเป็นยาฆ่าพยาธิขับลม เปลือกต้นสดหรือแห้งใช้แทนผงชูรสได้ รากต้มแก้ท้องเฟ้อขับลมในลำไส้แก้ปวดเสียวในท้องดีมาก นอกจาก ชะอมจะมีรสชาติอร่อย ชุบไข่ทอดกินกับน้ำพริกปลาทูนึ่งทอด หรือปรุงเป็นแกงส้ม แกงแค แล้ว ชะอมยังมีเบต้าแคโรทีน ช่วยป้องกันการก่อมะเร็งได้อีกด้วยครับ.  


ซาก กับที่มาชื่อประโยชน์และโทษ
ซาก
ไม้ต้นนี้ พบขึ้นตามป่าราบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบทั่วไป ในประเทศไทยพบมากที่สุดในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งชาวบ้านชนบทในยุคสมัยก่อนจะรู้จักต้น ซากเป็นอย่างดี เนื่องจากเวลามีดอกจะมีกลิ่นเหม็นหืนคล้ายกลิ่นซากเน่าตายแห้งของสัตว์ จึงถูกเรียกชื่อว่าต้น ซากดังกล่าว
        ซาก มีประโยชน์และโทษอยู่ในต้นเดียวกัน โดยประโยชน์ทางยา หมอยาพื้นบ้านโบราณนิยมเอาเนื้อไม้ของต้น ซากไปเผาเป็นถ่านและบดเป็นผง ปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นเป็นยารับประทานแก้ไข้พิษ เซื่องซึม และแก้โรคในเด็กได้ดีมาก เนื้อไม้จากต้น ซากยังนำไปใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ เพลาเกวียน ทำเสาอาคารบ้านเรือน เสาเข็ม ทำพื้นกระดาน ลอด ตง ขื่อ ได้ทนทานแข็งแรงมาก นอกจากนั้นชาวบ้านในชนบทสมัยก่อนยังนิยมตัดเอาต้น ซากไปเผาทำถ่านบรรจุกระสอบขายได้รับความนิยมจากผู้ซื้ออย่างแพร่หลาย เพราะจะให้ไฟแรงและไม่มอดง่ายนั่นเอง
          ส่วนโทษ ทุกส่วนของต้น ซากจะมีรสเมามาก ใบ เนื้อไม้ แก่น กระพี้ หรือราก หากรับประทานแบบเดี่ยวๆชนิดสดๆ หรือต้มน้ำดื่มอาจทำให้ถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น ก่อนนำไปปรุงเป็นยาสมุนไพร จึงต้องนำเนื้อไม้ไปเผาเป็นถ่านก่อนตามที่ระบุข้างต้น เพื่อทำลายพิษให้หมดไป และด้วยความมีพิษของต้น ซากนี่เอง บรรดามิจฉาชีพในยุคสมัยก่อนจึงชอบนำเอาต้น ซากไปใช้ในทางไม่ดี เลยทำให้ต้น ซากไม่นิยมปลูกและหายากมากในปัจจุบัน
          ซาก หรือ ERYTHROPLOEUM SUCCIRUBRUM,GAGNEP,  ERYTHROPLOEUM TEYSMANNII KURZ. อยู่ในวงศ์ MIMOSACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 20-30 เมตร ผลัดใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 8-16 คู่ รูปใบหอกหรือรูปไข่ สีเขียวสด ใบดกและหนาทึบมาก
        ดอก ออกเป็นช่อยาวตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากเบียดกันแน่นตามแกนดอก เป็น สีเหลือง หรือ เหลืองนวล เวลามีดอกจะมีกลิ่นเหม็นหืนตามที่กล่าวข้างต้น ผลเป็นฝักคล้ายฝักประดู่ มี 5-8 เมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีชื่ออีกคือ ไม้ชาด, พันชาด (อีสาน) ตร้ะ (ส่วยสุรินทร์) ตะแบง (อุดรฯ) คราก (ชุมพร) และ เตรีย (เขมรสุรินทร์) เหมาะจะปลูก เพื่ออนุรักษ์หรือปลูกฟื้นฟูสภาพป่า เพราะเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ จะช่วยรักษาหน้าดินได้ดีมากครับ. 


ซ้อ แก้ผื่นคันตามตัว
ซ้อ
 ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากขอให้แนะนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้ผื่นคันตามตัวบ้าง เนื่องจากตอนนี้มีคนเป็นกันเยอะ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เป็นแล้วคันมาก ต้องเกาจึงจะหายคัน แต่ไม่หายขาด บางครั้งเป็นตามแผ่นหลังใช้มือเกาไม่ได้ ต้องหาไม้เขี่ย หรือต้องเอาหลังถูกับเสาหรือต้นไม้เหมือนวัวควาย ทรมานมาก  อาบน้ำทาแป้งพอบรรเทาแต่ก็ไม่หายเช่นกัน
ในทางสมุนไพร มีสูตรยารักษาอาการดังกล่าวหลายสูตร  เคยแนะนำในคอลัมน์ไปนานแล้ว  และอีกสูตรหนึ่งที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณได้ผลดีคือ  เปลือกต้น "ซ้อ" มีวิธีทำง่ายๆได้แก่ เอาเปลือก กะจำนวนตามต้องการ หรือพอประมาณ ต้มน้ำจนเดือดแล้วอาบขณะน้ำยังอุ่นอยู่ โดยก่อน อาบน้ำต้มดังกล่าว ต้องอาบน้ำธรรมดาถูสบู่ล้างตัวให้สะอาดก่อน จากนั้นจึงอาบที่ต้ม ราดให้ทั่วตัวไม่ต้องถูสบู่อีก หรือเป็นไปได้ถ้าสามารถแช่น้ำต้มได้ 15-20 นาที แล้วเช็ดตัวเลย ทำทั้งเช้าและเย็น น้ำต้มจากเปลือก "ซ้อ" จะช่วยรักษาอาการตุ่มคันตามตัวให้ค่อยๆดีขึ้นและหายขาดได้ ระยะเวลาต้มอาบอยู่ที่อาการที่เป็นมากหรือน้อย  สามารถต้มอาบได้เรื่อยๆ  แม้หายแล้วก็ต้มอาบได้
         สูตรดังกล่าว ชาวเขาเผ่าลีซอนำเอาเปลือกต้น "ซ้อ" ต้มน้ำเดือดอาบหรือแช่ตัวเป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันตามร่างกายที่เกิดจากเชื้อรา ใส่เสื้อผ้าชื้นหมักหมม และแก้หูดที่ขึ้นตามตัวได้อีกด้วย
          ซ้อ  หรือ  GMELINA  ARBOREA ROXB.  อยู่ในวงศ์  VERBENACEAE  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ ต้นสูง 15-25 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มใหญ่ กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม  มีขนละเอียด  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามรูปหัวใจน่าชมมาก   มีขนทั้ง 2 ด้าน เวลามีใบดกจะให้ร่มเงาดียิ่ง
         ดอก ออกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด  แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีแดงหรือสีเหลือง มีแถบสีน้ำตาล เชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ดูคล้ายดอกกล้วยไม้ มีกลีบปากยื่นยาว  เป็นสีเหลืองสดเห็นชัดเจน ดอกมีขนาดใหญ่ เวลามีดอกมักจะทิ้งใบ  ทำให้มีแต่ดอกเป็นสีแดงเหลืองบานสะพรั่งทั้งต้น   ดูสวยงามสดใสมาก "ผล" เป็นรูปรี ผลสุกเป็นสีเหลือง ภายในผลมี 2 เมล็ด ดอกออกช่วงฤดูร้อน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และ ตอนกิ่ง ปัจจุบันต้น "ซ้อ" มีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง "คุณพร้อมพันธุ์" ราคาสอบถามกันเอง นอกจากชื่อ "ซ้อ" แล้ว ยังมีชื่ออื่นเรียกอีกคือ เฝิง, แต้วขาว, สันปลาช่อน, เป้านก, แก้มอ้น, ช้อง-แมว, ท้องแมว และ เมา เป็นต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป  สมัยก่อนนิยมปลูกแพร่หลาย เพื่อเอาร่มเงา ชมความงามของดอก  และใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น